ททท. เชิญชวนประชาชนไทย ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับรัฐมนตรีท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 14-20 สิงหาคมนี้ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นทิศทางการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤตโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคให้ดีกว่าเดิม อันจะเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้านการท่องเที่ยว ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565
โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเช่นกัน ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวไทยจะเป็นการสะท้อนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเขตเศรษฐกิจไทย ภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ด้วยการให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การส่งเสริมการกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกระดับ ทั้งธุรกิจโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้ความปกติใหม่ หรือ New Normal เน้นความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย และการให้บริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ภายใต้นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว 5 ประการ คือ การท่องเที่ยวที่ปลอดภัย-สะอาด-รักษ์สิ่งแวดล้อม-เป็นธรรม-และยั่งยืน หรือ Safe–Clean–Green–Fair-Sustainable
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การจัดประชุมเอเปคถือเป็นเวทีของความร่วมมือที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจะร่วมกันหารือเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจวิชาการ และการท่องเที่ยว โดยสมาชิกเอเปคมี GDP รวมกันทั้งสิ้นกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก ปีนี้ประเทศไทยกำหนดหัวข้อหลักของการประชุม คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยง สู่สมดุล” มีประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อน 3 ประเด็น ได้แก่
1) การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน มุ่งหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) E-Commerce เศรษฐกิจดิจิทัล
2) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว มุ่งฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดน อำนวยความสะดวกในการเดินทางระยะยาว รวมถึงการขยายขอบเขตของ APEC Business Traveler Card
3) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมีผลลัพธ์ในการจัดทำ Bangkok Goal ด้าน BCG จะเป็นเอกสารสำคัญที่จะได้รับการรับรองในการประชุมระดับผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย
การประชุมระดับผู้นำฯ จะย้ำเจตนารมณ์ที่จะผลักดันการฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม บรรลุเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับด้านการท่องเที่ยวจะมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคและระดับคณะทำงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ทีมงานและสื่อมวลชนต่างประเทศ กว่า 300 คน ซึ่งประเด็นหลักที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในมิติการท่องเที่ยว ได้แก่ Regenerative Tourism: การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกภาคส่วน โดยจะมีรูปแบบการจัดงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อแสดงความสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสะท้อนแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) และกระจายรายได้การท่องเที่ยวให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่น
ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคและคณะทำงาน ยังมีกิจกรรมคู่ขนาน ได้แก่ การจัดสัมมนาวิชาการภายใต้หัวข้อ “Co–Creating Regenerative Tourism” กิจกรรมทัศนศึกษาสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมระดับคณะทำงาน และนิทรรศการบริเวณด้านหน้าห้องประชุม โดยการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 ได้รับความร่วมมือจาก 5 โรงแรมคุณภาพในกรุงเทพฯ ที่ได้รับมาตรฐาน SHA ให้เป็นสถานที่จัดประชุมและที่พัก คือ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ โรงแรมเซนต์รีจิส โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งคาดหวังว่าโรงแรมจะสามารถสร้างความประทับใจให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในการจัดประชุม APEC Business Advisory Council (ABAC) เป็นเวทีภาคเอกชนที่จะจัดประชุมควบคู่กันกับการประชุมกับเอเปคตลอดปี 2565
ช่วงท้าย ผู้ว่า ททท.ฯ กล่าวว่า ททท. จะสร้างการรับรู้การเป็นเจ้าภาพพร้อมเชิญชวนประชาชนคนไทยเป็นเจ้าบ้านที่ดีและต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยวอย่างอบอุ่นร่วมกัน โดยจะมีการสื่อสารกับประชาชนและชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าระหว่างการจัดประชุมและหลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปคท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 ครั้งนี้จะสามารถผลักดันกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งพลิกฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ททท. จะจัดแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบ Hybrid (On Site และ Live Streaming) ช่วงประมาณ 3-4 สิงหาคม 2565 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การจัดประชุมต่อไป