25.9 C
Bangkok
Thursday, January 2, 2025
010
002
previous arrow
next arrow

บอร์ด ORI เคาะส่ง “บริทาเนีย” เข้าตลาดหุ้น สยายปีกเตรียมยื่นไฟลิ่ง Q3/64

“ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” เผยบอร์ดอนุมัติ “บริทาเนีย” บริษัทในเครือซึ่งปัจจุบันเป็นผู้พัฒนาบ้านจัดสรร เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมยื่นไฟลิ่งไตรมาส 3/64 จ่อเสนอขายหุ้น IPO หวังเพิ่มความคล่องตัวในการเติบโตในธุรกิจที่อยู่อาศัยแนวราบ รวมถึงบ้านจัดสรรและสร้างความยั่งยืนระยะยาว หลังก่อตั้งไม่ถึง 5 ปีพัฒนาโครงการสะสมต่อเนื่องถึงประมาณ 19,500 ล้านบาท
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ได้มีมติอนุมัติแผนการนำ บริษัท บริทาเนีย จำกัด (“BRI”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ที่ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดการณ์กำหนดการยื่นแบบคำขอและร่างหนังสือชี้ชวนภายในไตรมาส 3/2564

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติอนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ของ BRI ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนํา BRI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“แผนการ Spin-Off”) ภายใต้แผนการ Spin-Off ในครั้งนี้ BRI คาดว่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และผู้ลงทุนประเภทอื่นๆ รวมทั้งเสนอขายหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิ ซึ่งมีหุ้นที่จัดสรรไว้รองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานของ BRI และ/หรือบริษัทย่อยของ BRI (“ESOP Warrant”) การเสนอขายหุ้นให้แก่กรรมการ ผู้บริการ และ/หรือ พนักงานของ ORI และ ผู้ถือหุ้นสามัญของ ORI ตามสิทธิ (Pre-emptive) รวมทั้งหมดคิดเป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้วทั้งหมดของ BRI ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และหลังการใช้สิทธิ ESOP Warrant (ภายใต้สมมติฐานว่ามีการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนและการใช้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิทั้งจำนวน)

ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปดังกล่าวจะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ใน BRI ลดลงจากเดิมร้อยละ 100 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของทุนชําระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) (ภายใต้สมมติฐานว่ามีการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนและการใช้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิทั้งจำนวน) โดย BRI จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ เช่นเดิมต่อไปนายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า การอนุมัติแผนการ Spin-Off ของ BRI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ BRI เป็นบริษัทแกนนำหลัก (Flagship Company) ของกลุ่ม ORI ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบในประเทศไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ ทั้งนี้ นับแต่ก่อตั้งบริษัท บริทาเนีย จำกัด ในช่วงปลายปี 2560 บริษัทมีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนปัจจุบันสามารถพัฒนาธุรกิจบ้านจัดสรรครอบคลุมทุกเซ็กเมนท์ ได้แก่ เบลกราเวีย (Belgravia) บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี่ แกรนด์บริทาเนีย (Grand Britania) บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด บริทาเนีย (Britania) บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม และไบรตัน (Brighton) บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม และมียอดพัฒนาโครงการสะสมถึงปัจจุบันทั้งสิ้น 15 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 19,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน BRI ยังมีความเข้าใจในความต้องการเชิงลึก (Insight) ของผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการให้สามารถตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งคุณภาพ การออกแบบ ทำเล และบริการหลังการอยู่อาศัย ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้บ้านจัดสรรเป็นสินค้าที่มีความต้องการและเติบโตสูงขึ้น แม้ในยามที่ภาคเศรษฐกิจได้รับแรงกดดัน บริษัทฯ จึงเล็งเห็นโอกาสในการปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจให้มีความชัดเจน คล่องตัว เพื่อเตรียมขยายธุรกิจเชิงรุกจากความสามารถในการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อสร้างการเติบโตที่เป็นไปตามปกติของธุรกิจ (Organic Growth) และการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Inorganic Growth)“แผนการ Spin-Off เพื่อนำ BRI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริทาเนียให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม สำหรับต่อยอดสู่การพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งยังเอื้อต่อการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง สามารถขยายธุรกิจบ้านจัดสรรให้ครอบคลุมความต้องการของตลาดยิ่งกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทฯ ให้มีแนวโน้มที่ดีและสร้างความมั่นคงในระยะยาว” นายพีระพงศ์ กล่าว
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเข้าทำรายการ
ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของ ORI
(ก)เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน โดยสามารถเลือกลงทุนในบริษัทฯ และ/หรือ BRI ได้ตามนโยบายการลงทุนของนักลงทุนแต่ละราย
(ข)ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จะรับได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการที่มูลค่าของหุ้น BRI ที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ ณ ปัจจุบัน จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงและมูลค่าเพิ่มของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบของบริษัทฯ ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงขึ้นตามราคาตลาด
ประโยชน์ต่อ ORI
(ก) ลดภาระของบริษัทฯ ในการสนับสนุนด้านเงินทุน เนื่องจาก BRI จะสามารถระดมทุนได้เองผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และอาจสามารถระดมทุนด้วยเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ผ่านช่องทางตลาดทุน หรือช่องทางอื่น ด้วยเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
(ข) บริษัทฯ จะมีการแยกโครงสร้างธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารจัดการ การพัฒนา และการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบมีความชัดเจน และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
(ค)การเพิ่มทุนของ BRI และการที่ BRI จะสามารถระดมทุนได้เองผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และอาจสามารถระดมทุนด้วยเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ผ่านช่องทางตลาดทุน หรือช่องทางอื่น จะส่งผลให้ฐานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทโดยรวมดีขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการและขยายธุรกิจได้เพิ่มขึ้น
(ง)ราคาหุ้นของบริษัทฯ อาจสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของเงินลงทุนใน BRI ได้มากขึ้นตาม เนื่องจากมีราคาตลาดอ้างอิงสำหรับหุ้น BRI
ประโยชน์ต่อ BRI
(ก) การนำ BRI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นการเพิ่มช่องทางระดมทุนให้กับ BRI ให้สามารถระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจใน ในเชิงรุกเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตที่เป็นไปตามปกติของธุรกิจ (Organic Growth) และการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Inorganic Growth)
(ข) BRI จะได้รับเงินทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ การชำระคืนหนี้ และการดำเนินการอื่นที่จำเป็น (ตามข้อ 9.)
(ค) BRI จะมีโครงสร้างการบริหารธุรกิจที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารจัดการ การพัฒนา และการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
(ง) ส่งเสริมชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ BRI ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น รวมไปถึงเพิ่มโอกาสในการแสวงหาบุคลากรและ/หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ
(จ)ภายหลังการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ราคาหุ้น BRI จะสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจของ BRI ได้ชัดเจนขึ้น หุ้นของ BRI จะมีสภาพคล่องและตลาดรองรับในการซื้อขายหุ้น รวมทั้งมีราคาตลาดอ้างอิงสำหรับการซื้อขายหุ้น
(ฉ)BRI จะสามารถดึงดูดนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ

Related Articles

Stay Connected

22,878FansLike
3,912FollowersFollow
22,200SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles