กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ รุกตลาดสินเชื่อครึ่งปีหลัง ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายรวม 75,000 ล้าน

0
170
Krungsri First Choice Entering the Credit Market in The Second Half of The Year
Krungsri First Choice Entering the Credit Market in The Second Half of The Year

กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เผยแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง เน้น 3 กลยุทธ์ ทั้งมุ่งสู่ดิจิทัล, ร่วมกับพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ และช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หวังครองความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระต่อเนื่อง คาดตลาดเริ่มฟื้นตัวช่วงไตรมาสที่ 4 เตรียมอัดโปรโมชันตอบรับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ เน้นจุดแข็งผลิตภัณฑ์ด้านสิทธิประโยชน์การผ่อนชำระ และช่องทางบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายโดยรวมแตะ 75,000 ล้านบาท เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 4% (แบ่งเป็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 45,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 30,000 ล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2564 ขณะที่ยอด NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้รวมอยู่ที่ 2.6% ลดลงจากสิ้นปีที่ผ่านมา

นางสาวพัทธ์หทัย กุลจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตภายใต้แบรนด์กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า “ภาพรวมตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มปรับลดลง จากผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรง ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในไตรมาสแรกของปี 2564 ปรับลดลง -2.7%  เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายและการขอสินเชื่อมากขึ้น นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีความต้องการใช้บริการด้านดิจิทัลและออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้าที่อายุ 23-40 ปี มากถึงเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกัน กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์จึงได้ปรับแผนธุรกิจ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ โดยเน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือ มุ่งสู่ดิจิทัล, ร่วมมือกับพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ และช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ”

กลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ได้แก่

1.มุ่งสู่ดิจิทัล – กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้า เช่น บริการ U Card สมัครบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อผ่านแอป UChoose โดยยอดสมัครบัตรใหม่ผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มมีการล็อคดาวน์, บริการ U Cash โอนวงเงินบัตรเครดิตเข้าบัญชีออมทรัพย์หรือพร้อมเพย์เพื่อใช้เป็นเงินสด โดยยอดกดเงินสดผ่านช่องทาง U Cash ของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เติบโตถึง 25% หลังจากเปิดตัวไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ยังเดินหน้าออกโปรโมชันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ด้านการใช้บริการออนไลน์ของลูกค้า เช่น โปรโมชันออนไลน์ช้อปปิ้ง, โปรโมชันผ่อนชำระอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์สำนักงานเพื่อใช้ทำงานที่บ้าน, โปรโมชันเกี่ยวกับการสั่งอาหารออนไลน์ เป็นต้น

2.ร่วมมือกับพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ : กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และโปรโมชันที่คุ้มค่าให้กับลูกค้า ทั้งพันธมิตรชั้นนำ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล และบมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ หรือโฮมโปร ซึ่งมอบความไว้วางใจออกบัตรเครดิตร่วม (Co-Brand) กับกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ รวมถึง พันธมิตรแบรนด์ชั้นนำและร้านค้ากว่า 25,000 รายที่ร่วมกับบริษัทนำเสนอโปรโมชันต่าง ๆ เช่น ส่วนลด, เครดิตเงินคืน, รวมถึงบริการผ่อนชำระสินค้าที่มีแผนผ่อนชำระหลากหลายซึ่งนับเป็นจุดเด่นของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์  ไม่ว่าจะเป็น บริการ ‘0% สั่งได้ทุกอย่าง’ ที่สามารถเปลี่ยนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า เป็นการแบ่งจ่าย 0% นาน 3 เดือน หรือแผนผ่อนชำระด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ นานสูงสุดถึง 24 เดือน เป็นต้น โดยโปรโมชันดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยแบ่งเบาภาระให้ลูกค้าบริหารค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน

3.ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19: กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก จึงออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้สมาชิกบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ที่ได้รับผลกระทบ นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก โดยจนถึงปัจจุบัน กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 900,000 บัญชี คิดเป็นยอดหนี้คงค้างประมาณ 35,000 ล้านบาท

“สำหรับภาพรวมธุรกิจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ 13,100 ล้านบาท เติบโต 5% หมวดที่มียอดใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ประกันภัย 2. ออนไลน์ช้อปปิ้ง 3. ตกแต่งบ้าน 4.น้ำมัน 5. ซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่ยอดสินเชื่อผ่อนชำระของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ในช่วงครึ่งปีแรกสูงถึง 8,000 ล้านบาท เติบโต 12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดสินค้าที่ลูกค้านิยมผ่อนชำระ เรียงลำดับตามอัตราเติบโต ได้แก่ 1. ผ่อนสินค้าผ่านช้อปปิ้งออนไลน์แพลตฟอร์ม (+80%), 2.ผ่อนทองคำรูปพรรณ (+30%), 3.ผ่อนมือถือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+30%), 4.ผ่อนประกัน (+10%) และ 5.ผ่อนสินค้าตกแต่งบ้าน (+6%) ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ แต่บริษัทคาดว่า สภาวะตลาดโดยรวมน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวและกลับมากระเตื้องขึ้นในราวไตรมาสที่ 4 โดยกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์คาดว่า ด้วยกลยุทธ์หลักทั้ง 3 ประการที่ปรับให้เข้ากับสภาวะการดำเนินธุรกิจ และความต้องการของลูกค้า รวมถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ในเรื่องของแผนผ่อนชำระที่ช่วยให้ลูกค้าบริหารค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น และช่องทางบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้า น่าจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดย ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายโดยรวมแตะ 75,000 ล้านบาท เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 4% (แบ่งเป็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 45,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 30,000 ล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2564”  นางสาวพัทธ์หทัย กล่าวสรุป