28.1 C
Bangkok
Wednesday, December 18, 2024
010
002
previous arrow
next arrow

สมาคมโรคเบาหวานฯ จัดสัมมนาเล็งแก้ปัญหาเบาหวาน

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดสัมมนาเล็งแก้ปัญหาเบาหวาน ผ่านการสร้างเครือข่ายและชมรมเบาหวานอย่างยั่งยืน แนะแพลตฟอร์ม T2DMinsulin.com แหล่งรวมความรู้เรื่องการรักษาโรคเบาหวานและการใช้อินซูลิน เข้าใจง่ายผ่านการ์ตูนแอนิเมชั่น

สถานการณ์เบาหวานทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) ระบุว่าในปี 2562 คาดการณ์ว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า สถานการณ์ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 700 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 51% ในขณะที่ข้อมูลสำรวจสถานะสุขภาพอนามัยของคนไทยในปี 2562 พบความชุกของโรคเบาหวาน 9.5% เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีความชุกอยู่ที่ 8.9% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงและมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน คือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น อยู่หน้าจอมือถือมากขึ้น ทำให้ขยับร่างกายน้อยลง การขาดการออกกำลังกาย รวมถึงการบริโภคของหวานและอาหารที่ให้พลังงานเกินความต้องการของร่างกาย

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร, กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน, ชมรมเบาหวาน, ภาคีเครือข่ายต่างๆ และโรงพยาบาลราชวิถี จึงได้จัดงาน ‘สัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างเครือข่ายและชมรมเบาหวานของประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน’ โดยได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงาน เนื่องจากกรุงเทพมหานคร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทยที่สั่งสมมายาวนาน ร่วมสนับสนุนให้ผู้ป่วยเบาหวานมีส่วนร่วมในการจัดการเบาหวานของตนเอง และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลตนเองที่ถูกต้อง สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตตนเอง ให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษา รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารจัดการกับโรคเบาหวานระหว่างภาคส่วนต่างๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเร่งขับเคลื่อนโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครจะเป็นกลจักรสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถจัดตั้งชมรมและการป้องกันตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่ากังวลของเบาหวาน คือการเกิดภาวะแทรกซ้อน เพราะจากสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานมี 3.7 ล้านคน ซึ่งพบว่า 1.5 ล้านคนเสียชีวิตจากเบาหวานโดยตรง และอีก 2.2 ล้านคน เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 60% ของยอดผู้เสียชีวิต การเกิดภาวะแทรกซ้อนแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ 1. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก เช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตา, เบาหวานลงไต, ปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน จะมีอาการชามือชาเท้าจนไม่รู้สึก เกิดบาดแผลได้ง่าย ส่วนอีกกลุ่มคือ 2. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ อาจมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบทำให้เกิดหัวใจวายได้, ภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบ จนทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือพิการตามมา เป็นต้น

ศ. เกียรติคุณ พญ. วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า “สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ มีแนวทางขับเคลื่อนให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมเบาหวานของตนเองได้ โดยจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าเบาหวานคืออะไร เป้าหมายการควบคุมระดับน้ำตาลของแต่ละคน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนด รวมถึงต้องควบคุมระดับความดันและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย เพราะ 2 สิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ในอนาคต

ปัจจุบันการมาพบแพทย์รักษาเบาหวานที่โรงพยาบาล จะเป็นลักษณะการทำงานร่วมกันเป็นทีมสหวิชาชีพ มีพยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการบำบัด ร่วมดูแลให้คำปรึกษาแนะนำร่วมด้วย รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปีของผู้ป่วยเบาหวานก็จะครอบคลุมมากขึ้น มีการตรวจสุขภาพตา ตรวจปัสสาวะเพื่อดูการทำงานของไต ตรวจสุขภาพเท้า เพื่อดูแลป้องกันเชิงรุกก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดแผลตามมา ทั้งนี้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้พยายามขับเคลื่อนให้มีการดูแลอย่างครบถ้วน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงและใกล้ชิดกับผู้ให้บริการมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโควิด-19 ได้มีการใช้เทคโนโลยีร่วมด้วย อาทิ การดูแลผู้ป่วยผ่าน Telemedicine รวมถึงมีสื่อการเรียนรู้บนดิจิทัลต่างๆ”

รศ. นพ. เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวถึงสถานการณ์จริงในปัจจุบัน ปี 2563 มีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 9.5% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งอัตราผู้ป่วยเบาหวานสูงกว่าจากที่ได้คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังมีผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้นถึง 40% ด้วย โดยในกลุ่มดังกล่าวนี้ มีผู้ที่ไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นเบาหวานถึง 31% ทราบว่าเป็นเบาหวานแต่ไม่ได้รักษา 14% และ 29% รักษาแต่ควบคุมไม่ได้ ในขณะที่มีเพียง 26% ที่รักษาและสามารถควบคุมได้ ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มาก

จากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเบาหวาน เกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวแปรสำคัญคือการทำงานของตับอ่อน มักพบว่าในวันที่วินิจฉัยได้ว่าป่วยเป็นเบาหวาน การทำงานของตับอ่อนลดลงถึง 50% แล้ว ประกอบกับภาวะดื้อต่ออินซูลินจากความอ้วน ดังนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงก่อนที่จะเป็นเบาหวาน ประมาณ 5-10 ปี ก่อนที่การทำงานของตับอ่อนจะลดประสิทธิภาพลงจนไม่สามารถฟื้นสภาพได้

การคัดกรองถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการลดอัตราผู้ป่วยเบาหวาน เพราะนอกจากจะคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นเบาหวานแล้ว ยังสามารถป้องกันผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อไม่ให้เกิดโรคอีกด้วย สำหรับผู้เป็นเบาหวานแล้วก็พยายามไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา นอกจากนี้ การปรับแนวคิดหรือวิธีปฎิบัติในชุมชน อาทิ ปรับค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดของคนในชุมชนหรือคนในกรุงเทพฯ ให้ลดลง, จัดกิจกรรมออกกำลังกายในชุมชน, สนับสนุนอาหารเช้าที่ถูกหลักโภชนาการภายในโรงเรียน หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างเหมาะสม ฯลฯ ก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะหยุดการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานและโรคอ้วน และหากสามารถดำเนินการส่งต่อกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยเบาหวานจากชุมชนเพื่อเข้าสู่โมเดลการดูแลรักษาแบบครบวงจร โดยมีการเชื่อมโยงกับทั้งระบบสาธารณสุขไทย ก็จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดภาวะโรคแทรกซ้อนได้ ศ. คลินิก นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี และนายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน กล่าวว่าด้วยจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างแพทย์ที่ดูแลรักษาและจำนวนผู้ป่วย อีกทั้งแพทย์ยังมีเวลาจำกัด ทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่เข้าใจโรคและไม่เข้าใจการใช้ยาฉีดอินซูลิน อาทิ ควรฉีดอย่างไร การปรับยาฉีด รวมถึงการแก้ไขปัญหาภาวะน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งการจัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้บนเว็บไซต์ www.t2dminsulin.com สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ต้องใช้อินซูลิน ที่ได้รับการสนับสนุนโดย บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่กล่าวข้างต้นและสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอินซูลิน และสามารถนำไปปรับใช้ดูแลตนเองได้

เทคโนโลยีสื่อการเรียนรู้ www.t2dminsulin.com ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้บนทุกแพลตฟอร์ม อำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา โดยข้อมูลที่ถ่ายทอดอยู่ในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่นที่เข้าใจง่าย และได้ปรับศัพท์เชิงวิชาการให้ง่ายต่อการเข้าใจ โดยเนื้อหาได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากทีมแพทย์ชำนาญการด้านโรคเบาหวานจากโรงพยาบาลระดับประเทศหลายแห่ง เพื่อมุ่งให้เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อีกทั้งได้สอดแทรกสาระผ่านเกม ประกอบด้วย 8 บทเรียน อาทิ ความสำคัญของอินซูลิน, ความเข้าใจผิดและความจริงเกี่ยวกับอินซูลิน, การเริ่มใช้อินซูลินในการรักษาเบาหวาน, อาหารและการออกกำลังกายสำหรับผู้เป็นเบาหวาน, การจัดการเมื่อเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ, ชนิดของอินซูลิน, การเก็บและการพกพาอินซูลิน และการใช้เครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้วและความจำเป็นในการปรับขนาดยา เป็นต้น และจะมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับอินซูลินบนเว็บไซต์ www.t2dminsulin.com เพิ่มเป็น 12 บทเรียน ในช่วงต้นปี 2565 อีกด้วย  

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญในการก้าวไปสู่การดูแลผู้ป่วยเบาหวานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐและเอกชน และสำคัญที่สุดคือภาคประชาชน รวมถึงผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับพฤติกรรม ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอันดีจากแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงมีชุมชนที่ช่วยกันดูแล และได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง โดยมีโมเดลการดูแลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ชมรมเบาหวาน ก็จะทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ดูแลช่วยเหลือกัน จากการศึกษาผู้ที่อยู่ในชมรมฯ จะสามารถควบคุมค่าระดับน้ำตาลสะสมได้ดีกว่าผู้ที่ไม่มีชมรม จึงอยากให้เสริมพลังในการจัดตั้งชมรมผู้ป่วยเบาหวานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยกันควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

Related Articles

Stay Connected

22,878FansLike
3,912FollowersFollow
22,100SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles