CIVIL เผยแนวโน้มธุรกิจก่อสร้าง รับแรงกดดันต้นทุนสูงต่อเนื่อง เดินหน้าปรับกลยุทธ์บริหารโครงการ คุมต้นทุน บริหารความคืบหน้าโครงการ รักษาความสามารถทำกำไร ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1/65 รายได้รวม 1,649.42 ล้านบาท กำไรสุทธิ 40.31 ล้านบาท แนวโน้มไตรมาส 2/65 ลุยส่งมอบงานในมือ ผนึกพันธมิตรใหม่สร้าง New S-Curve ดัน Backlog ตามเป้า 15,000 – 20,000 ล้านบาท
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาที่ใช้เทคโนโลยีก่อสร้างแบบครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจก่อสร้างในปีนี้ยังคงได้รับผลกระจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามสถานการณ์เงินเฟ้อและพลังงานในตลาดโลก และคาดว่าในอนาคตอันใกล้จะมีแรงกดดันจากต้นทุนแรงงานเข้ามาเพิ่มเติม
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการทุกรายในภาคธุรกิจ มีความจำเป็นต้องปรับตัว ทั้งในด้านการบริหารต้นทุน การบริหารงานก่อสร้างอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในงานก่อสร้าง อีกทั้งมีการติดตามแผนงานก่อสร้าง และราคาวัสดุอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรเริ่มดีขึ้นเล็กน้อย โดยอัตรากำไรสุทธิในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 2.44% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/64 ที่มีอัตรากำไรสุทธิ 1.69%
สำหรับผลประกอบการผลประกอบการไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้รวม 1,649.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,186.82 ล้านบาท จำนวน 462.60 ล้านบาท หรือ 38.98% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 40.31 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 69.15 ล้านบาท จำนวน 28.84 ล้านบาท หรือ 41.71% ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17.82 ล้านบาท หรือ 79.24%
ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากงานรับเหมาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ อาทิ งานก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง, งานก่อสร้างทางหลวง และ งานก่อสร้างสนามบิน โดยบริษัทมีการทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการบริหารจัดการโครงการที่ดี ทำให้สามารถส่งมอบงานได้รวดเร็ว และรับรู้รายได้ภายในกรอบระยะเวลาของสัญญาโครงการ
ส่วนกำไรสุทธิที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากราคาต้นทุนด้านวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาเหล็ก คอนกรีต และราคาน้ำมัน ซึ่งส่งกระทบเป็นวงการต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง อีกทั้งงานก่อสร้างที่ดำเนินการช่วงไตรมาส 1/65 เป็นงานที่มีมาร์จิ้นไม่สูงมาก
ด้านทิศทางการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุนการก่อสร้าง พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์และปรับกลยุทธ์การบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่ดี อีกทั้งบริษัทมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารงานก่อสร้างให้มีความรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อให้งานในมือแล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพสูง และบริหารจัดการ Supply Chain เพื่อลดความผันผวนของราคาต้นทุนที่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้บริษัทมีความพร้อมในการเข้ารับงานใหม่ทั้งโครงการภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์, โครงการขนาดใหญ่โดยการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) รวมถึงการเจรจากับพันธมิตรภาคเอกชนรายใหม่ที่จะช่วยสร้าง New S-Curve เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท และเพิ่มมูลค่างานในมือ (Backlog) ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในระดับ 15,000 – 20,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมืออยู่ที่ 14,200 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565) ทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องจนถึงปี 2567