จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก ทำให้การบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการดูแล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้เปิดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation: HI) แต่เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ทำให้พบว่ายังคงมีบางส่วนที่ลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ป่วยบางส่วนที่รอการติดต่อเป็นระยะเวลานาน กลายเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง และบางส่วนก็เสียชีวิตแล้ว
สภากาชาดไทย โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงประสานความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย ศูนย์เอราวัณ แพทยสภา กรุงเทพมหานคร และทีมอาสาสมัครภาคเอกชน ผนึกกำลังร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) หลังลงทะเบียนในระบบ Home Isolation ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี และได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ Home Isolation กับ สปสช.
ทั้งนี้ สปสช. สภากาชาดไทย ร่วมกับทีมงานจิตอาสา เช่น Let’s be heroes หมอริทช่วยโควิด Thai CoCare HICV และอาสาสมัครของสภากาชาดไทยเอง ได้รับผู้ป่วยมาอยู่ในการดูแลในเบื้องต้น จำนวน 3,163 ราย ซึ่งผู้ป่วยจำนวนดังกล่าว ได้ลงทะเบียนในระบบ Home Isolation แล้ว โดยมีสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม กรุงเทพฯ เป็นผู้ประสานงานหลักกับ สปสช. ในการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ซึ่งหลังจากผู้ป่วยผ่านการติดต่อประสานงาน ประเมินและคัดกรองอาการแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการทางโทรศัพท์วันละ 2 ครั้ง (Telemedicine) อาหาร 3 มื้อ ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยา Favipiravir ยาฟ้าทะลายโจร และยาพื้นฐานอื่นๆ โดยด่วนตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564 สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ สภากาชาดไทย ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ตามการประเมินและคัดกรองอาการของผู้ป่วยดังนี้
1. ลงทะเบียนผู้ป่วยและรับเข้าระบบรักษาพยาบาล จำนวน 3,163 ราย
2. ประเมินอาการทางโทรศัพท์วันละ 2 ครั้ง (Telemedicine) โดยทีมแพทย์ พยาบาลอาสาสมัคร จาก Let’s be heroes หมอริทช่วยโควิด Thai CoCare HICV และอาสาสมัครของสภากาชาดไทย จำนวน 2,778 ราย
3. ส่งชุดอาหารพร้อมรับประทาน จำนวน 1,600 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นก่อนที่จะได้รับอาหารกล่อง
4. ส่งอาหารกล่อง 3 มื้อ จำนวน 1,383 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตลอดระยะเวลา Home Isolation
5. ส่งปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล จำนวน 1,012 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19
6. ส่งเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 868 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19
7. ส่งยา Favipiravir และยาอื่น ๆ จำนวน 1,400 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19
โดยมีอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสภากาชาดไทย ได้ให้การสนับสนุนงานด้าน Telemedicine โทรศัพท์คัดกรองข้อมูลผู้ป่วย และจัดส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการติอต่อ ดูแล และรักษาพยาบาลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น