28.7 C
Bangkok
Friday, November 22, 2024
010
002
previous arrow
next arrow

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาส 2/2566 ยอดขายลดลง -32.3% หน่วยเหลือขายเกินกว่า 1.9 แสนหน่วย

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานผลสำรวจภาคสนามอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย สำหรับรายไตรมาส 2 ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยสำรวจเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย พบว่าที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมดมีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 หน่วยที่เปิดตัวใหม่มีจำนวนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -19.0 ขณะที่ยอดขายได้ใหม่จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -32.3 สถานการณ์โดยภาพรวมอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทโครงการอาคารชุดซึ่งมีหน่วยเหลือขาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2

สถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย (แนวราบและอาคารชุด) ปรับตัวลงแรง

ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยผลการที่ภาวะภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุด ที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย ในกรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑล ในไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า หน่วยที่มีการเสนอขายที่อยู่อาศัยรวม (บ้านจัดสรรและอาคารชุด) 206,246 หน่วย มูลค่า 1,019,318 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.3 และ 5.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นหน่วยเกิดจากโครงการเปิดตัวใหม่เพียง 23,080 หน่วย หรือเพียงร้อยละ 11.19 ของหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด มูลค่า 127,774 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 12.54 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด ซึ่งหน่วยที่เปิดตัวใหม่มีจำนวนและมูลค่าที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -19.0 และ -6.6 ตามลำดับ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 11,224 หน่วย มูลค่า 80,299 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -7.8 โครงการอาคารชุดจำนวน 11,856 หน่วย จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -27.3 มูลค่าโครงการ 47,475 ล้านบาท  มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9

ในด้านยอดขายพบว่าในช่วงไตรมาส 2 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวนทั้งสิ้น 15,959 หน่วย มูลค่าโครงการรวม  83,499 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -32.3 มูลค่าลดลงร้อยละ -28.4 ในจำนวนดังกล่าวเป็นการขายได้ใหม่ของโครงการอาคารชุดจำนวน 5,909 หน่วย มูลค่าโครงการรวม มูลค่า 24,900 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -56.5 มูลค่าลดลงร้อยละ -53.1 และเป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 10,050 หน่วย มูลค่า 59,490 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 มูลค่าลดลงร้อยละ -8.9

ด้านที่อยู่อาศัยเหลือขายพบว่าไตรมาส 2 ปี 2566 มีจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายทั้งสิ้น 190,287 หน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 มูลค่า 935,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 แบ่งเป็น อาคารชุด 74,230 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 มูลค่า 290,637 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -1.3 และบ้านจัดสรรจำนวน 116,057 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 มูลค่า 645,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบ

เมื่อแยกวิเคราะห์เฉพาะตลาดบ้านแนวราบ ในไตรมาส 2 ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่าหน่วยที่มีการเสนอขายเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวน 126,107 หน่วย มูลค่า 704,672 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.7 และ 13.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งพบว่าประเภทบ้านเดี่ยวมีการขยายตัวของหน่วยเสนอขายมากที่สุด จำนวนทั้งสิ้น 32,947 หน่วย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.9  เป็นที่น่าสังเกตว่าทาวน์เฮ้าส์เป็นที่อยู่อาศัยแนวราบประเภทเดียวที่มีจำนวนหน่วยเสนอขายลดลงเล็กน้อย โดยมีจำนวน 69,356 หน่วย ลดลงร้อยละ -0.3

ในด้านยอดขายใหม่ไตรมาส 2 ปี 2566 ของประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบมีจำนวน 10,050 หน่วย ขยายตัวร้อยละ 0.7 และ มูลค่า 59,490 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.9 และมีอัตราการดูดซับทรงตัวอยู่ในระดับ  2.7 แสดงให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบค่อนข้างคงตัวเช่นเดียวกับไตรมาส 1 ปี 2565 ทั้งนี้พบว่าจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ประเภทโครงการแนวราบทุกประเภทมีอัตราการขยายตัวของจำนวนหน่วยขายได้ใหม่เพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงหลังจากโควิด หรือระหว่างปี 2565 ถึงปัจจุบัน โดยอาคารพาณิชย์และบ้านแฝด มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 26.1 และ 25.6 ตามลำดับ ยกเว้นทาวน์เฮ้าส์มีอัตราการขายได้ใหม่ลดลงร้อยละ -7.5 ในขณะที่บ้านเดี่ยวมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือร้อยละ 3.3 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนหน่วยโครงการเปิดขายใหม่ประเภททาวน์เฮ้าส์ก็ลดลงด้วยเช่นกันโดยลดลงถึงร้อยละ -15.5

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงหน่วยเหลือขายคงค้างประเภทโครงการแนวราบ กลับพบว่าบ้านเดี่ยวยังมีอัตราหน่วยเหลือขายมากที่สุดโดยมีอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.1 ในขณะที่บ้านแฝดมีอัตราหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และทาวน์เฮ้าส์มีอัตราหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในขณะที่อาคารพาณิชย์มีหน่วยเหลือขายลดลง -0.9  โดยภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ พบว่าอัตราดูซับของที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่บ้านแฝด และอาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเกิดจากมีการเปิดขายโครงการใหม่ และในตลาดมีที่อยู่อาศัยประเภทดังกล่าวจำนวนไม่มากนัก

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด

ตลาดอาคารชุด ในไตรมาส 2 ปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่า หน่วยที่มีการเสนอขายอาคารชุด 80,139 หน่วย มูลค่า 314,646 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ  -0.3 และ มูลค่าลดลงร้อยละ -8.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นหน่วยเกิดจากโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่สูงถึง  11,856 หน่วย ลดลงร้อยละ -27.3 มูลค่า 47,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และเมื่อดูถึงยอดขายใหม่ของอาคารชุดที่เกิดในไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวน 5,909 หน่วย  ลดลงร้อยละ -56.5 มูลค่า 24,009 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -53.1 ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายจำนวนทั้งสิ้น 74,230 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 มูลค่า 290,637 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -1.3

Related Articles

Stay Connected

22,878FansLike
3,912FollowersFollow
22,100SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles