30.6 C
Bangkok
Tuesday, March 19, 2024
010
002
previous arrow
next arrow

ซีบีอาร์อี เผยเทรนด์อสังหาริมทรัพย์ไทยน่าจับตาในปี 2566

ประเทศไทยเริ่มต้นปี 2566 ด้วยแนวโน้มที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ได้เผยถึงเทรนด์สำคัญที่น่าจับตามองในตลาดที่พักอาศัย ตลาดอาคารสำนักงาน ตลาดพื้นที่ค้าปลีก ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ และตลาดโรงแรมของไทย

นางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ปี 2566 เริ่มต้นด้วยทิศทางบวกมากกว่าปีก่อน ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ซึ่งมีผลให้ความเชื่อมั่นของตลาดและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น ทั้งตลาดที่พักอาศัยและตลาดพื้นที่สำนักงานมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของความต้องการพื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้พัฒนาโครงการสามารถตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการได้ใช้เวลาทำความเข้าใจเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดที่พักอาศัยและตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และได้มีการปรับตัวโดยนำกลยุทธ์และนโยบายที่เหมาะสมที่สุดมาใช้กับธุรกิจของตนเอง”

“ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในปี 2566 ที่ระดับ 3.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2565   ตัวเลขจะเป็นไปตามการคาดการณ์หรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของภาคการส่งออกเป็นหลัก   อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ รัฐบาลจะสร้างความสมดุลระหว่างความจำเป็นที่จะลดมาตรการกระตุ้นทางการคลังโดยไม่กระทบต่อการเติบโตด้านการบริโภคโดยรวมอย่างไร ในขณะที่หนี้ส่วนบุคคลยังสูงอยู่” นางสาวโชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดีที่สุดคือความกังวลเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ลดน้อยลงมาก  และในปีนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ได้ผ่านอุปสรรคและเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบใหม่ของการใช้ชีวิต การทำงาน และการพักผ่อน

ตลาดที่พักอาศัย

ปี 2565 เป็นอีกปีที่ตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางกรุงเทพมหานครไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก   กว่า 95% ของคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่ตั้งอยู่ในทำเลรอบนอกใจกลางเมืองและชานเมือง มีกลุ่มเป้าหมายคือลูกค้าระดับกลาง-ล่าง    นอกจากนี้ ผู้ซื้อในประเทศยังให้ความสนใจที่พักอาศัยแนวราบมากกว่า เพราะมีความหนาแน่นน้อยกว่า มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า และสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้มากกว่า   ในปีนี้ ผู้พัฒนาโครงการจะรุกเปิดตัวโครงการบ้านแนวราบมากขึ้น เจาะกลุ่มเรียลดีมานด์หรือผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่เองจากในประเทศ

สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง ซีบีอาร์อีคาดว่าผู้พัฒนาโครงการจะยังคงให้ความสำคัญกับขายยูนิตที่พร้อมเข้าอยู่ให้หมด ก่อนที่จะประเมินศักยภาพในการเปิดตัวโครงการใหม่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง   การเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ย่านใจกลางเมืองจะค่อย ๆ ฟื้นตัวและต้องใช้เวลา   ในปี 2566 เราอาจเห็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองไม่มากนัก โดยคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 และเทรนด์ที่น่าจับตามองคือโครงการมิกซ์ยูสที่มีการผสมผสานของที่พักอาศัย การมีสุขภาวะที่ดี และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เข้าไว้ด้วยกัน

ที่มา: แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี

นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า “ตลาดแนวราบยังคงเติบโตต่อเนื่องในทุกระดับราคาเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา ผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองมีความคาดหวังและความต้องการที่ชัดเจนที่ผู้พัฒนาโครงการจะต้องตอบสนองให้ได้เพื่อสร้างยอดขาย ผู้ซื้อยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานพื้นที่ ความเป็นส่วนตัว พื้นที่สีเขียวแบบเปิดโล่ง สุขภาวะที่ดี และเทคโนโลยี รวมทั้งมีพื้นที่ที่สามาถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวหลายคนสามารถทำงานจากที่บ้านได้  รวมถึงพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกต่างวัยในครอบครัวได้ใช้ชีวิตร่วมกัน สำหรับโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักซ์ชัวรี่และซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่จำเป็นต้องจัดสรรที่จอดรถให้เพียงพอ รวมถึงพิจารณาการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า”

“สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมมือสอง ผู้ซื้อส่วนหนึ่งสนใจที่จะซื้อคอนโดมิเนียมเก่าเพราะมีขนาดยูนิตใหญ่กว่าคอนโดมิเนียมในโครงการใหม่ ๆ ทั่วไป คอนโดมิเนียมมือสองเหล่านี้มักจะขายในราคาต่อตารางเมตรที่ต่ำกว่าโครงการใหม่ ทำให้ผู้ซื้อสามารถลงทุนตกแต่งปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของครอบครัวได้   สำหรับความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ผู้ซื้อชาวไทยยังคงให้ความสนใจประเทศอังกฤษและออสเตรเลีย และมักจะมีจุดประสงค์ในการซื้อเพื่อเป็นที่พักอาศัยให้กับบุตรหลานที่ไปศึกษาต่อ รวมถึงเพื่อการลงทุน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว และเพื่อเติมเต็มด้านไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และมีการพิจารณาทำเลใหม่ ๆ อย่างมัลดีฟส์เป็นต้น” นางสาวปพิณริยา พึ่งเขื่อนขันธ์ หัวหน้าแผนกซื้อขายที่พักอาศัยรายย่อย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเสริม

สรุปเทรนด์สำคัญ:

* ผู้พัฒนาโครงการมุ่งเน้นไปที่การเปิดตัวโครงการใหม่ที่เป็นที่พักอาศัยแนวราบเป็นหลัก

* ผู้พัฒนาโครงการมุ่งเน้นไปการขายยูนิตที่แล้วเสร็จให้หมดมากกว่าการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ใจกลางเมือง

* ความต้องการของผู้ซื้อในประเทศที่ซื้อเพื่ออยู่เองยังคงเป็นเรื่องหลักที่ผู้พัฒนาโครงการให้ความสำคัญ

อาคารสำนักงาน

ขณะที่ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในปี 2565 เราเห็นเทรนด์ต่อเนื่องที่บริษัทในประเทศต่ออายุสัญญาเช่าพื้นที่เดิม โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่   แต่บริษัทข้ามชาติในกรุงเทพฯ มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องต้องการใช้พื้นที่สำนักงานของตนเอง และบางบริษัทได้เริ่มย้ายสำนักงานไปยังอาคารใหม่ระดับพรีเมียมเกรดเอแล้ว ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองในปีนี้

ท่ามกลางตลาดอาคารสำนักงานที่มีออฟฟิศที่ได้มาตรฐานระดับสากลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทข้ามชาติซึ่งได้มีการกำหนดนโยบายใหม่เรื่องสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะบริษัทที่มีการทำงานแบบไฮบริด ต่างใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการยกระดับคุณภาพสถานที่ทำงานของตนเองให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ของบริษัท และกำหนดเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรักษาและดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในสำนักงานเพื่อจูงใจให้พนักงานอยากเข้ามาทำงานที่สำนักงานมากขึ้น 

นอกจากนี้ ซีบีอาร์อีคาดว่าในปี 2566 จะมีธุรกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มมากขึ้น บริษัทไทยหลายแห่งได้ตกลงที่จะย้ายจากอาคารที่เช่าอยู่มานานกว่า 20 ปี เพื่อเปิดรับการทำงานแบบไฮบริดที่ได้กลายเป็นมาตรฐานการทำงานรูปแบบใหม่ในกรุงเทพฯ

ที่มา: แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี

“ถึงแม้การมีส่วนร่วมกับพนักงานและการดำเนินการตามกลยุทธ์การใช้พื้นที่ทำงานจะเป็นสิ่งสำคัญ  แต่ต้นทุนการตกแต่งพื้นที่สำนักงานใหม่จะเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญสำหรับผู้เช่า   เจ้าของอาคารสำนักงานจะเสนอเงื่อนไขการเช่าที่ดึงดูดใจ เพื่อโน้มน้าวให้ธุรกิจขนาดใหญ่ย้ายสำนักงาน    อาคารสำนักงานใหม่เหล่านี้จะมีพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น (Flex Space) และบริการที่หลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างสถานที่ทำงานที่ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อาคารในด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์” นายศรุต วีรกุล ผู้อำนวยการ แผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว

สรุปเทรนด์สำคัญ:

* อาคารสำนักงานรุ่นใหม่ที่สร้างเสร็จและเป็นไปตามมาตรฐานสากลจะเป็นโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายที่ตั้งสำนักงานมากขึ้น

* เจ้าของอาคารสำนักงานจะนำเสนอเงื่อนไขการเช่าที่น่าดึงดูดใจเพื่อรักษาผู้เช่าไว้

* การพิจารณาเรื่อง ESG และการทำงานแบบไฮบริดจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจย้ายที่ตั้งสำนักงาน

พื้นที่ค้าปลีก

ในตลาดพื้นที่ค้าปลีก เราได้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกและผู้เช่าในช่วงปีที่มีโควิด-19 ในระดับที่มากกว่าตลาดอื่น ๆ ความเข้าใจกันนี้ได้ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย เนื่องจากตลาดนี้ไม่เคยหยุดพัฒนา  แม้ว่าความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มีความชัดเจนมากที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา  แต่ซีบีอาร์อีคาดว่าลูกค้าจะยังคงเห็นถึงความสำคัญของการมีหน้าร้านและการซื้อสินค้าจากหน้าร้าน

ปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและอีก 7 โครงการที่ประกาศออกมาใหม่   แต่แนวโน้มที่น่าจับตามองคือการพัฒนาโครงการค้าปลีกขนาดกลางให้เหมาะสมกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมือง

นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า “ถึงแม้ว่าการซื้อขาย การชำระเงิน และระบบคลังสินค้าออนไลน์จะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกจะยังคงลงทุนปรับรูปแบบและนำเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการค้าปลีกเพื่อดึงดูดผู้คนให้กลับเข้ามาในโครงการอีกครั้ง   ในขณะที่การซื้อขายออนไลน์สร้างความสะดวกสบายและการซื้อขายหน้าร้านสร้างประสบการณ์  การค้าทั้งสองรูปแบบจึงสำคัญพอๆ กันและจำเป็นต้องมีการผสมผสานที่ลงตัว”

สรุปเทรนด์สำคัญ:

* เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกจะปรับปรุงโครงการค้าปลีกเก่าเพื่อสร้างประสบการณ์ในรูปแบบใหม่และทันสมัยมากขึ้น

* เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกและผู้ค้าปลีกจะหาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน      

* โปรโมชั่นที่หน้าร้าน กิจกรรมที่จัดในโครงการ และการมอบประสบการณ์ในการจับจ่ายใช้สอยรูปแบบใหม่ ๆ จะเป็นแนวทางในการดึงดูดนักช้อป

พื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์

ความต้องการที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปี 2566 เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการเร่งขยายนิคมอุตสาหกรรมเดิมและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เป็นผลมาจากนโยบาย China Plus One ที่ยังคงดำเนินต่อ นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จำเป็นต้องได้รับการต่ออายุและปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ก้าวให้ทันประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในจุดได้รับประโยชน์จากความต้องการพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ที่เคยชะงักไปในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ซีบีอาร์อีคาดว่าผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และผู้ผลิตยานยนต์ทั้งแบบปกติและแบบไฟฟ้า จะยังคงมองประเทศไทยในฐานะตัวเลือกที่เหมาะสมเป็นอย่างมากในการตั้งฐานการผลิต ไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมากในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้เข้ามามากขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตเหล่านี้”

สรุปเทรนด์สำคัญ:

* การเร่งขยายที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม

* การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักด้านเทคโนโลยีและการผลิต

* การนำวิทยาการหุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในภาคการผลิตและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น

โรงแรม

เมื่อปี 2565 สิ้นสุดลง เราได้เห็นว่าสถานการณ์ในภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นอย่างมาก และเมื่อเข้าสู่ปี 2566 ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางบวก   ตลาดได้รับผลดีจากผลการดำเนินงานของโรงแรมที่ดีขึ้นและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากขึ้น   ทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากการที่นักท่องเที่ยวจีนสามารถกลับเข้ามายังประเทศไทยได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาอีกครั้ง แต่ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการรักษากลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีการออกแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โรงแรมต่าง ๆ จะยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรงแรมที่มีอยู่ได้กลับมาเปิดให้บริการ และแผนกวิจัยซีบีอาร์อีคาดว่าจะมีซัพพลายโรงแรมใหม่ซึ่งมีห้องพักรวมมากกว่า 10,000 ห้องที่จะเข้ามาในตลาดภายในสิ้นปี 2568 ส่งผลให้ปริมาณห้องพักโรงแรมในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอีก 12%”STR และแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี

ที่มา: STR และแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี

แม้ว่าโรงแรมมากมายหลายแห่งจะมีรายได้เฉลี่ยต่อวันจากห้องพักที่ขายได้หรือ ADR ในเดือนธันวาคม ปี 2565 สูงกว่าเดือนธันวาคม ปี 2562   แต่อัตราการเข้าพักยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของทั้งปี 2565 ยังน้อยกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังแตกต่างกันอย่างมาก   สิ่งที่น่าจับตามองจากนี้คือเจ้าของโรงแรมและเครือโรงแรมต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนของโรงแรม โดยเฉพาะการเริ่มต้นในการ นำกลยุทธ์ด้าน ESG ในระยะยาวมาใช้  ตลอดจนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและการรักษาพนักงานเอาไว้ เนื่องจากผู้ที่เคยตกงานจำนวนมากลังเลที่จะกลับสู่ภาคธุรกิจนี้

นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “เจ้าของโรงแรมและเครือโรงแรมจะทุ่มเทเวลาและทรัพยากรเพื่อให้มั่นใจว่าตนอยู่ในจุดที่ดีที่สุดที่จะได้ประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มผลกำไรหลังจากประสบปัญหาขาดทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   นอกจากนี้ อาจมีโอกาสสำหรับนักลงทุนในการซื้อโรงแรม เนื่องจากเราได้เห็นแล้วว่าช่องว่างระหว่างราคาของผู้ขายและผู้ซื้อนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะความเชื่อมั่นในตลาดปรับตัวดีขึ้น”

สรุปเทรนด์สำคัญ:

* กลุ่มโรงแรมราคาประหยัดและโรงแรมระดับกลางมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เนื่องจากกรุ๊ปทัวร์และการเดินทางเพื่อธุรกิจกลับมา

* แรงกดดันด้าน ADR เพราะการปรับปรุงโรงแรมและการเปิดโรงแรมใหม่ในปี 2566 ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น

* เครือโรงแรมให้ความสำคัญกับการนำกระบวณการด้าน ESG และเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้เข้าพักและลดต้นทุนระยะยาว

การลงทุน

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความระมัดระวังของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อจะยังคงทำให้การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 มีจำนวนจำกัด แต่ด้วยความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นโดยรวมจึงเป็นที่คาดว่าปริมาณธุรกรรมซื้อขายที่ดินจะมีเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้พัฒนาโครงการจะเปิดรับพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุน โดยกลุ่มนักลงทุนชาวญี่ปุ่นยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อประเทศไทย  แม้ว่าตลาดที่พักอาศัยเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับความนิยมในการร่วมลงทุน แต่คาดว่าในปีนี้ ตลาดอื่น ๆ อาจได้รับความสนใจมากกว่าเดิม โดยเฉพาะตลาดอาคารสำนักงานและตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์

นายบานาบี้ สเวนสัน หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดิน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างการพัฒนาหรืออยู่ในขั้นตอนการวางแผน อาจมองหาผู้ร่วมลงทุนหรือแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เนื่องจากคาดว่าผู้ให้สินเชื่อในประเทศจะยังคงระมัดระวังอยู่    นอกจากนี้ เจ้าของที่ดินควรที่จะศึกษาเรื่องการปล่อยเช่าที่ดินเพื่อเป็นทางเลือกหากไม่ต้องการที่จะพัฒนาที่ดินนั้นเองหรือขายออกไป เนื่องจากภาระทางภาษีในการถือครองที่ดินเปล่านั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

สรุปเทรนด์สำคัญ:

* ช่องว่างเรื่องความคาดหวังด้านราคาที่แคบลงจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น หลังจากระยะเวลาสามปีที่ผ่านมามีธุรกรรมในระดับที่ต่ำ

* นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย

* ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจะส่งผลให้เกิดการร่วมลงทุนกับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

Related Articles

Stay Connected

22,878FansLike
3,912FollowersFollow
21,600SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles