ราคาบ้านขยับตามต้นทุนสวนทางดีมานด์ซื้อซบเซา ค่าเช่าพุ่งต่อเนื่อง คาดมาตรการอสังหาฯ ดันตลาดโตครึ่งปีหลัง

0
121
House Prices Move According to Cost In Contrast Purchasing Demand is Sluggish Rent Continues to Rise
House Prices Move According to Cost In Contrast Purchasing Demand is Sluggish Rent Continues to Rise

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตแบบซึม ๆ อันเนื่องมาจากความท้าทายรอบด้านที่กระทบต่อสถานะทางการเงินของผู้บริโภค ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ ภาวะหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อจากปัจจัยภายนอกทั้งภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศในไตรมาสล่าสุดลดลง 7% โดยลดลงทุกประเภทที่อยู่อาศัย ขณะที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปรับขึ้นเล็กน้อย 1% ตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงกำลังซื้อของกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงเลือกชะลอแผนการซื้อหรือโยกย้ายที่อยู่อาศัยออกไปก่อน ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการเช่าทั่วประเทศลดลง 10% โดยดัชนีค่าเช่าแนวสูงเพิ่มขึ้นถึง 5% และแนวราบเพิ่มขึ้น 4% 

คาดมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซับที่อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่ในกรุงเทพฯ ให้ลดลง และหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มกำลังซื้อเข้ามาเสริมจะยิ่งช่วยเติมเชื้อไฟให้ภาคอสังหาฯ เติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลัง

ข้อมูลล่าสุดจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q1 2567 วิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เผยภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน (QoQ) และเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากราคาวัสดุก่อสร้าง การปรับขึ้นค่าแรง ราคาที่ดินในปัจจุบัน รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องปรับขึ้นราคาอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

เมื่อพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ดัชนีราคาของคอนโดฯ และบ้านเดี่ยวในไตรมาสที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเท่ากัน โดยคอนโดฯ เพิ่มขึ้น 1% QoQ (เพิ่มขึ้น 9% YoY) บ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 1% QoQ (เพิ่มขึ้น 3% YoY) ถือเป็นสัญญาณบวกในการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ ส่วนทาวน์เฮ้าส์ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อนและปีก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความท้าทายทางการเงินโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกชะลอแผนการซื้อบ้านออกไปก่อน เห็นได้ชัดจากภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศที่ปรับลดลง 7% QoQ และลดลงถึง 31% YoY ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 และปรับลดลงในทุกประเภทที่อยู่อาศัย 

ทั้งนี้ คอนโดฯ ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดถึง 59% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ ตามมาด้วยบ้านเดี่ยว 25% และทาวน์เฮ้าส์ 17% ขณะเดียวกัน ที่อยู่อาศัยระดับราคา 1-3 ล้านบาท ครองตลาดด้วยสัดส่วน 30% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างยังคงไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะดูดซับอุปทานเหล่านี้ รองลงมาคือระดับราคา 5-10 ล้านบาท (22%) และระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาท (19%) ในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน 

ค่าเช่าพุ่งต่อเนื่องทั้งแนวสูง-แนวราบ 

ภาพรวมตลาดเช่าที่อยู่อาศัยทั่วประเทศยังคงมีทิศทางเติบโตในแง่ของราคาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยแนวสูงอย่างคอนโดฯ และอะพาร์ตเมนต์ปรับเพิ่มขึ้น 5% QoQ และเพิ่มขึ้น 22% YoY เช่นเดียวกับดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 4% QoQ และเพิ่มขึ้น 28% YoY แต่สวนทางกับความต้องการเช่าทั่วประเทศที่ปรับลดลง 10% QoQ (ลดลง 25% YoY)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการเช่าจะลดลงจากไตรมาสก่อน แต่ถือเป็นการลดแบบชะลอตัวลงจากช่วงที่ผ่านมา (ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 มีการปรับลดลงถึง 27% จากไตรมาสก่อนหน้า) สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเช่าที่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย สอดคล้องกับเทรนด์ Generation Rent ที่เน้นเช่ามากกว่าซื้อ และตอบโจทย์ทางการเงินได้ดีกว่า

โดยคอนโดฯ เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการปล่อยเช่าสูงถึง 87% ของจำนวนที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าทั้งหมดทั่วประเทศ รองลงมาคือบ้านเดี่ยว 9% และทาวน์เฮ้าส์ 4% ขณะที่ภาพรวมที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าในระดับค่าเช่า 10,000-30,000 บาท/เดือน ครองตลาดด้วยสัดส่วนสูงสุดที่ 41% เป็นช่วงราคาที่สามารถจับต้องได้และตอบโจทย์ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 

เมื่อแบ่งตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่าคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ในระดับค่าเช่า 10,000-30,000 บาท/เดือน มีจำนวนมากที่สุด (43% และ 39% ตามลำดับ) ต่างจากบ้านเดี่ยวที่ระดับค่าเช่ามากกว่า 100,000 บาท/เดือน มีจำนวนมากที่สุด (41%) 

นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตโดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่จะขับเคลื่อนให้ตลาดอสังหาฯ ปีนี้มีโอกาสเติบโต 

คาดการณ์ว่าราคาอสังหาฯ และความต้องการซื้อจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางการเงินตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในช่วงที่ตลาดอสังหาฯ ของไทยยังคงชะลอตัวเช่นนี้ 

อย่างไรก็ดี ตลาดอสังหาฯ ยังคงมีปัจจัยท้าทายหลายด้าน อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้ต้นทุนทางการเงินในการซื้อที่อยู่อาศัยปัจจุบันยังคงสูงเมื่อเทียบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค เห็นได้จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เผยว่า ณ สิ้นปี 2566 มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย 1.8 แสนล้านบาท ส่วนหนี้บ้านที่ค้างชำระ 30-90 วัน เพิ่มขึ้นถึง 31% YoY มาอยู่ที่ 1.78 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นบ้านมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท ประกอบกับความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารในเวลานี้ ทำให้ผู้ซื้อต้องมีความพร้อมทางด้านการเงินมากขึ้น 

รวมทั้งผู้บริโภคกลุ่ม Real Demand อาจจะยังชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อนเพื่อรอติดตามสถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการประชุมรอบถัดไปในเดือนมิถุนายน 2567 รวมทั้งจับตาทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในการเพิ่มภาระหนี้ที่เกินศักยภาพออกไปก่อน 

ขณะเดียวกัน เมื่อราคาบ้าน/คอนโดฯ มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของโครงการรีเซลหรือตลาดบ้านมือสองซึ่งมีต้นทุนราคาเดิมที่ถูกกว่าจะกลายเป็นอีกตัวเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่จำเป็นต้องซื้อที่อยู่อาศัยในเวลานี้แทน” นายวิทยา กล่าวสรุป

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในตลาดอสังหาฯ ปัจจุบันได้ก่อให้เกิดความท้าทายที่ต้องจับตามอง คือ เมื่อความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอยู่ในช่วงขาลงสวนทางกับราคาที่เพิ่มขึ้นแบบนี้ หากช่องว่างระหว่างแนวโน้มดัชนีความต้องการซื้อกับดัชนีราคาเริ่มกว้างออกจากกันเรื่อย ๆ เมื่อถึง ณ จุดหนึ่ง เชื่อว่าหากดัชนีความต้องการซื้อไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมาปรับสูงขึ้น ดัชนีราคาคงจะต้องขยับปรับลดลงตามกลไกของตลาดแทน เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น และขับเคลื่อนให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในทุกระดับราคาเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

เกาะติดตลาดอสังหาฯ เมืองหลวง คนกรุงเมินซื้อบ้าน ดันค่าเช่าเพิ่มทุกประเภท

รายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q1 2567 เผยข้อมูลเชิงลึกของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ในไตรมาสล่าสุด สรุปภาพรวมดัชนีราคา ดัชนีค่าเช่า รวมทั้งความต้องการซื้อและเช่าที่อยู่อาศัย พร้อมอัปเดตทำเลศักยภาพที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจและควรจับตามอง

ราคาคอนโดฯ เริ่มขยับ สวนทางกับดีมานด์ผู้ซื้อลด 8% ภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1% QoQ และเพิ่มขึ้น 8% YoY โดยคอนโดฯ ถือเป็นอสังหาฯ ประเภทเดียวที่ดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมาโดยเพิ่มขึ้น 1% และเพิ่มขึ้นถึง 11% YoY ขณะที่ดัชนีราคาของที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์แม้จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นถึง 8% และ 3% YoY ตามลำดับ 

ขณะเดียวกันความต้องการซื้อในกรุงเทพฯ กลับลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 โดยภาพรวมความต้องการซื้อลดลง 8% QoQ (ลดลง 31% YoY) ทั้งนี้ หากแยกตามประเภทอสังหาฯ พบว่า ทาวน์เฮ้าส์มีความต้องการซื้อลดลงมากที่สุดถึง 13% QoQ (ลดลง 38% YoY) รองลงมาคือบ้านเดี่ยวลดลง 8% QoQ (ลดลง 37% YoY) และคอนโดฯ ลดลง 6% QoQ (ลดลง 26% YoY) สะท้อนให้เห็นกำลังซื้อในเมืองหลวงที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หลังจากผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาเปิดตัวโครงการแนวราบมากขึ้นและผู้บริโภคที่มีสินค้าแนวราบอยู่ในมือได้นำออกมาขายตามเทรนด์การอยู่อาศัยในช่วงการแพร่ระบาดฯ แต่เมื่อความต้องการซื้อลดลง จึงทำให้ปัจจุบันมีสินค้าแนวราบเหลือขายเพิ่มขึ้น โดยบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 7% QoQ และทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 8% QoQ อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่ามาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซับที่อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่ในกรุงเทพฯ ให้ลดลงได้

ทั้งนี้ คอนโดฯ ยังครองตลาดโดยมีจำนวนมากที่สุดถึง 80% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดในกรุงเทพฯ ขณะที่บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ มีสัดส่วนไล่เลี่ยกันที่ 11% และ 9% ตามลำดับ สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท สัดส่วน 25% รองลงมาคือ 1-3 ล้านบาท (สัดส่วน 24%) และราคามากกว่า 15 ล้านบาท (สัดส่วน 23%) เมื่อแบ่งตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า คอนโดฯ ส่วนใหญ่ในระดับราคา 5-10 ล้านบาท มีสัดส่วนมากที่สุด 26% ส่วนบ้านเดี่ยวระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาท มีสัดส่วนมากที่สุด 44% และทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 1-3 ล้านบาท มีสัดส่วนมากที่สุด 39% 

อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จะไม่ได้เติบโตหวือหวา แต่ยังมีหลายทำเลที่ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ โดย 5 ทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกรุงเทพฯ ในไตรมาสล่าสุด ได้แก่

– อันดับ 1 เขตสะพานสูง ราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 39,000 บาท/ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 6% QoQ และเพิ่มขึ้น 11% YoY

– อันดับ 2 เขตคลองสาน ราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 143,000 บาท/ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 4% QoQ และเพิ่มขึ้น 7% YoY

– อันดับ 3 เขตหลักสี่ ราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 54,000 บาท/ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 3% QoQ และเพิ่มขึ้น 12% YoY

– อันดับ 4 เขตบางขุนเทียน ราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 29,000 บาท/ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 3% QoQ และเพิ่มขึ้น 2% YoY

– อันดับ 5 เขตยานนาวา ราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 91,000 บาท/ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2% QoQ และเพิ่มขึ้น 3% YoY

ค่าเช่าโตต่อเนื่อง คอนโดฯ ครองตลาดเช่าด้วยสัดส่วน 92% ตลาดเช่าในกรุงเทพฯ ยังคงเติบโตอย่างน่าสนใจ เห็นได้จากดัชนีค่าเช่าในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกประเภท โดยค่าเช่าแนวสูงอย่างคอนโดฯ และอะพาร์ตเมนต์ เพิ่มขึ้น 5% QoQ และเพิ่มขึ้น 22% YoY ด้านค่าเช่าแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 3% QoQ และเพิ่มขึ้น 18% YoY สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของราคา อย่างไรก็ดี ภาพรวมความต้องการเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ยังคงชะลอตัวเช่นเดียวกับภาพรวมทั่วประเทศ โดยปรับลดลง 4% QoQ (ลดลง 24% YoY) 

ขณะเดียวกัน คอนโดฯ มีจำนวนมากที่สุดในตลาดเช่าด้วยสัดส่วน 92% ของจำนวนที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าทั้งหมดในกรุงเทพฯ ถือเป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี รองลงมาคือบ้านเดี่ยว 5% และทาวน์เฮ้าส์ 3% 

นอกจากนี้ พบว่าที่อยู่อาศัยให้เช่าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับค่าเช่า 10,000-30,000 บาท/เดือน มากที่สุดด้วยสัดส่วน 41% เมื่อแบ่งตามประเภทอสังหาฯ พบว่า คอนโดฯ ในระดับค่าเช่า 10,000-30,000 บาท/เดือน มีจำนวนมากที่สุด 43% ส่วนทาวน์เฮ้าส์ในระดับค่าเช่า 10,000-30,000 บาท/เดือน และ 50,000-100,000 บาท/เดือน ครองตลาดด้วยสัดส่วน 30% เท่ากัน ขณะที่บ้านเดี่ยวส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับค่าเช่ามากกว่า 100,000 บาท/เดือน ด้วยสัดส่วน 56% 

สำหรับทำเลที่มีดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกรุงเทพฯ ในไตรมาสล่าสุด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ ได้แก่

– อันดับ 1 เขตทวีวัฒนา ค่าเช่ากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 207 บาท/ตารางเมตร/เดือน เพิ่มขึ้น 60% QoQ และเพิ่มขึ้น 40% YoY

– อันดับ 2 เขตสะพานสูง ค่าเช่ากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 458 บาท/ตารางเมตร/เดือน เพิ่มขึ้น 20% QoQ แต่ลดลง 10% YoY

– อันดับ 3 เขตดินแดง ค่าเช่ากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 137 บาท/ตารางเมตร/เดือน เพิ่มขึ้น 19% QoQ และเพิ่มขึ้น 29% YoY

– อันดับ 4 เขตบางเขน ค่าเช่ากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 131 บาท/ตารางเมตร/เดือน เพิ่มขึ้น 14% QoQ และเพิ่มขึ้น 21% YoY

– อันดับ 5 เขตวังทองหลาง ค่าเช่ากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 103 บาท/ตารางเมตร/เดือน เพิ่มขึ้น 11% QoQ และเพิ่มขึ้น 15% YoY

หมายเหตุ: รายงาน DDproperty Thailand Property Market Report เป็นรายงานแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยที่จัดทําขึ้นเป็นรายไตรมาส (ทุก 3 เดือน) โดยใช้ข้อมูลจากประกาศขาย-เช่าบนเว็บไซต์ DDproperty มาคํานวณด้วยวิธีการทางสถิติ วิเคราะห์ และจัดทําเป็นดัชนีสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคา, จํานวนที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ในตลาด และความต้องการที่มีต่อที่อยู่อาศัยช่วงเวลานั้น ๆ โดยรายงานฉบับนี้ประกอบด้วย ดัชนีราคา (Price Index) และดัชนีความต้องการ (Demand Index) จากทั้งฝั่งตลาดซื้อ-ขายและตลาดเช่า แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในรอบไตรมาสว่าเป็นไปในทิศทางใด โดยนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นต้นมา ดัชนีราคาและความต้องการในรายงานนี้ได้ใช้ข้อมูลในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 เป็นปีฐาน  

อ่านและศึกษาข้อมูลแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสล่าสุดได้ที่ รายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q1 2567

*อ้างอิงข้อมูลจาก SimilarWeb ช่วงระหว่างเดือน ก.ค. – ธ.ค. 2566