21.2 C
Bangkok
Sunday, December 22, 2024
010
002
previous arrow
next arrow

เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหมู่เกาะและทะเลภาคตะวันออก 10-12 ม.ค. ณ เกาะหมาก จังหวัดตราด

จากนโยบายรัฐบาล ที่ประกาศการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 โดยใช้จุดเด่นและศักยภาพของประเทศไทยในเรื่องของการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้น และแผนวิสาหกิจการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) “ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน”

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด) (ที่ 2 จากขวา), นายอัครวิชย์ เทพาสิต (ผอ.ฝ่ายภูมิภาคภาคตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) (ที่ 2 จากซ้าย), นายอนุชา เทียนชัย (ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาค ๙) (ซ้าย) และ นายนล สุวัจนานนท์ (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก) (ขวา)

จากนโยบายดังกล่าว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออก และสำนักผู้ว่าการกองบริหารความยั่งยืน ร่วมกับ จังหวัดตราด องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเขต 9 (ระยอง จันทบุรี ตราด) กำหนดจัดกิจกรรมแถลงข่าวเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหมู่เกาะ และทะเลภาคตะวันออก ประกอบไปด้วย จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ณ เกาะหมาก จังหวัดตราด มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของภาคตะวันออก ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวหมู่เกาะ และทะเลภาคตะวันออก ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยังคงความสวยงาม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญคือเดินทางสะดวกสามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว และใช้เวลาในการเดินทางไม่นานจากกรุงเทพมหานคร อีกทั้งการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างการรับรู้การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นต้นแบบของการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราด  ได้มีนโยบายในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด “ท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า เมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจเติบโต เกษตรปลอดภัย สิ่งแวดลอมยั่งยืน” จังหวัดตราดมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจในปี 2565 ภาคเกษตร ร้อยละ 47 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 9 และภาคบริการ ร้อยละ 44 จะเห็นได้ว่า ภาคการเกษตรและภาคบริการ มีสัดส่วนที่มากใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดตราดที่สำคัญ จึงหมายรวมไปถึงการพัฒนา สินค้าทางการเกษตร ประมง และการบริการและการท่องเที่ยว

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตราดก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ ด้วยความเข้มแข็งของหน่วยงานภาคเอกชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ในการผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งการเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพด้านการบริการต่าง ๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว อาทิ มาตรการการรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ความสะดวกและสะอาด สังคมมีคุณภาพคุณธรรม เป็นต้น

จังหวัดตราด มีสถานที่พัก โรงแรม รวมทั้งหมดประมาณ 489 แห่ง ห้องพัก 11,73 ห้อง อำเภอคลองใหญ่ 26 แห่ง อำเภอเขาสมิง 9 แห่ง อำเภอบ่อไร่ 8 แห่ง อำเภอแหลมงอบ 18 แห่ง อำเภอเกาะช้าง 230 แห่ง อำเภอเกาะกูด (เกาะกูด-เกาะหมาก) 134 แห่ง และอำเภอเมืองตราด 64 แห่ง ข้อมูลสถิติ มีผู้เยี่ยมเยือนจังหวัดตราด ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2565 ประมาณจำนวนทั้งสิ้น 1,186,852 คน เป็นคนไทย 1,152,638 คน และ ต่างประเทศ 34,214 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 7,798 ล้านบาท เห็นได้ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวยังไม่กลับสู่ปกติ เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เยี่ยมเยือนจำนวน 2,278,251 คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 19,713.73 ล้านบาท 

ตราดที่เที่ยว ที่ไม่ได้มีแค่ทะเล แต่ครบถ้วนไปสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยมีเกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย และเกาะกูด ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นเมืองที่เงียบสงบ เหมาะกับการไปพักผ่อน ที่เยียวยาความเหนื่อยล้า เหมาะกับการมาเติมพลังบวกให้กับร่างกาย มากี่ครั้งก็ยังติดใจตามมาเก็บให้ครบทุกสถานที่เที่ยว

การจัดกิจกรรมในวันนี้ มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดตราด ที่มุ่งเรื่องเมืองท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดพร้อมด้วยภาครัฐและเอกชน ช่วยผลักดันรณรงค์ บ้านสะอาด เมืองตราดสวยสงาด มีคุณภาพคุณธรรม และยินดีเป็นอย่างมากที่ ททท. ได้มาจัดกิจกรรมแถลงข่าวที่เกาะหมาก เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และได้รับรางวัลติดอันดับ Top 100 green destination ประจำปี 2565 จัดอันดับโดย www.greenfestinations.org และเกาะหมากนับเป็นที่แรกของประเทศไทยที่เป็น Low Carbon destination โดยการจัดอันดับนี้มีเกณฑ์จาก Good practice stories, governance, and reset and recovery การจัดอันดับนี้ แสดงถึงพลังความร่วมแรงร่วมใจจาก อพท. ชุมชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังกันในการดูแลรักษาให้ยังคงเป็นเกาะหมาก Low Carbon Destination อย่างยั่งยืนต่อไป

นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออก กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหมู่เกาะ และทะเลภาคตะวันออก ณ เกาะหมาก จังหวัดตราด นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์และเป็นการประกาศให้นักท่องเที่ยว ทราบว่าในช่วงเวลานี้ หมู่เกาะ และทะเลภาคตะวันออก เริ่มต้นตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีความสวยงาม น้ำทะเลใส มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ประกอบกับกิจกรรมทางน้ำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พายเรือคายัค ดำน้ำ ฟลายบอร์ด (Fly Board) ที่ชายหาดพัทยา พาราเซลลิ่ง (Parasailing) และ พายซัปบอร์ด (SUP Board) ที่สวนพฤกษศาสตร์ จังหวัดระยอง และ ที่พระจมน้ำ อ่างเก็บน้ำเขาระกำ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ Unseen New Series ของภาคตะวันออก เหมาะสำหรับสายท่องเที่ยวที่ชอบ
ทำกิจกรรมกลางแจ้งและได้ท่องเที่ยวชมธรรมชาติไปด้วย รวมทั้งมีอาหารทะเลสดใหม่ และเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกะปิ น้ำปลา ส้มมะปี๊ด หรือส้มจี๊ด ระกำ เร่วหอม กระวาน นำมาเป็นวัตถุดิบในการ
ปรุงอาหารถิ่น อาทิ น้ำพริกระกำ แกงส้มผักกระชับ แกงหมูชะมวง ข้าวคลุกพริกเกลือ ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ผัดปู ปลาย่ำสวาท และในพื้นที่ระยอง จันทบุรี ตราด ยังมีสวนผลไม้หลากหลายชนิดที่มีรสชาติอร่อย ทั้ง ทุเรียน มังคุด เงาะ สละ ลองกอง เป็นต้น ซึ่งตอบโจทย์ทุก Lifestyle ของการท่องเที่ยว

ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันส่งเสริมวัฒนธรรม“Soft Power” ไทยที่มีศักยภาพ 5 F (Food Film Fashion Fighting Festival) แล้ว ภาคตะวันออกก็จะขอเป็น 1 ในผู้แทนของประเทศไทย โดยขอเพิ่ม F ที่ 6 คือ F-Friendship มิตรภาพ เจ้าบ้านที่ดี หมายถึงการบริการที่ออกมาจากหัวใจ การต้อนรับประดุจญาติมิตร โดย ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออก ได้วางพันธกิจ Mission  เพื่อเป็นการบอกถึงจุดประสงค์หรือภารกิจที่จะเริ่มทำ โดยจะเชิญชวนร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยว ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชุมชน ที่ดีขึ้นอย่างยั่นยืน ภายใต้ คอนเซ็ปต์ Eastern Thailand the Destination for Sustainable Tourism การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อการผลักดันให้ “เกาะหมาก” ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม หรือ Low Carbon Destination ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการท่องเที่ยวให้น้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยทั่วไป และยกระดับให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy ให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในภาคตะวันออก ที่สำคัญการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออกจะมุ่งไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า ในทุกครั้งที่ออกเดินทางท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายแหล่งท่องเที่ยว ไม่เพิ่มขยะในทุกพื้นที่ที่เดินทางท่องเที่ยว และเจ้าบ้านเอง ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน ผู้ประกอบการที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ร่วมมือกันทำพื้นที่ของตนเองให้มีความสะอาด น่าอยู่ น่าเที่ยว ใช้ทรัพยากรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า และมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนัก

โดยการจัดกิจกรรมเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวฯ ครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมร่วมกับกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ชุมชน มาให้ความรู้ถึงวิธีการดูแลรักษาต้นไม้ ร่วมกันเก็บขยะ นำขยะไปจัดเก็บอย่างถูกวิธี การสร้างชิ้นงานขยะจากทะเลเพิ่มมูลค่า และปลูกปะการัง เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ททท. ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว โดยวันนี้ ททท.ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท THAI TAFFETA.CO.,LTD มอบเสื้อชูชีพ บริษัท มาเซียโน่ จำกัด มอบรองเท้ายางแก่ชุมชนเกาะหมาก บริษัท เมธิคิวลัส จำกัด มอบเสื้อยืด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่นำมามอบทั้งหมดในครั้งนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากการ Recycle

ในปี 2566 เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยว (Visit Thailand Year) ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออก คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภาคตะวันออก จำนวน 16 ล้านคน/ครั้ง และรายได้ทางการท่องเที่ยวจำนวน 109,328 ล้านบาท โดย ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออกได้ออกแคมเปญกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวในประเทศตัดสินใจออกเดินทางไปท่องเที่ยวภาคตะวันออก อาทิ

โครงการ 365 มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน สบ๊าย สบาย สายกิน “เที่ยวไป กินไป สบายพุง” สร้างประสบการณ์การกินผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวแบบสบ๊าย สบาย สายกิน เที่ยวไป กินไป สบายพุง ด้วยเมนูคาว หวาน แบบฉบับภาคตะวันออก ที่มีคอนเซ็ปต์เมนูที่รังสรรจากวัตถุดิบหลัก 3 ประเภท ได้แก่ Seafood สมุนไพรป่า และผลไม้ จากแหล่งผลิตวัตถุดิบ นำมาประกอบกันเป็นเมนูสุดพิเศษ จากชุมชนท้องถิ่น ชาวสวนผลไม้ และเชฟมืออาชีพ ร่วมกันสร้างประสบการณ์การกินด้วยเรื่องราว Gastronomy Tourism ในรูปแบบ Live Seller โดย Chef  ฝีมือคุณภาพ เชื่อมโยงสู่การส่งเสริมการขายอาหารและผลไม้ในพื้นที่  นักท่องเที่ยวสามารถสะสม Reward card “เที่ยวไป กินไป สบายพุง” เมื่อซื้ออาหารทะเลอาหารชุมชน อาหารสมุนไพร และผลไม้ภาคตะวันออก รับส่วนลดค่าที่พัก และบัตรเติมน้ำมัน สำหรับการเดินทางเข้าพื้นที่ครั้งต่อไป

โครงการ Workation วันธรรมดา ททท. เล็งเห็นโอกาสภายหลังจากวิกฤติโรคระบาด (โควิด-19) ที่ทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป ประชาชนและนักท่องเที่ยวในปัจจุบันสามารถเดินทางท่องเที่ยวและทำงานไปพร้อมๆ กัน กระแส Work From Anywhere จึงได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมุ่งส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบ Workation “ทำงานง่าย ได้สุขภาพ” นำเสนอเส้นทางและกิจกรรมท่องเที่ยววันธรรมดา Happy Workplace + Responsible Tourism + Wellness (ที่พัก + กิจกรรม ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Wellness หรือ CSR/RT การออกกำลังกาย อาหารเพื่อสุขภาพ) สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบรักษ์สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ผ่อนคลายจากการทำงาน เรียนรู้ Trick สร้างสุขภาพ

นอกจากนี้ ภาคตะวันออกยังมีโปรโมชั่นที่กระตุ้นและสร้างกระแสให้ออกเดินทางท่องเที่ยวต่าง ๆ มากมาย ตลอดปี 2566 โดยสามารถอ่านข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ Facebook วันธรรมดาน่าเที่ยว Facebook เที่ยวตะวันออก และ Facebook ของสำนักงาน ททท. ในภาคตะวันออกทั้ง 6 สำนักงาน

นายอนุชา เทียนชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขต 9 กล่าวว่า ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขต 9 พื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด ในแหล่งท่องเที่ยว 3 แห่งนี้ ล้วนมีอัตลักษณ์ที่และความสวยงาม มีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันการจัดกิจกรรมต่าง ๆ สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้มากขึ้น

สำหรับบทบาทของภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับฤดูการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง ซึ่งถือว่าเป็นช่วง High Season ของทะเลตะวันออกก็ว่าได้ โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว มีการขับเคลื่อนร่วมกับในการดูแลรักษา เพื่อให้ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติคงอยู่อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังได้จับมือกับหน่วยงานภาครัฐได้แก่ จังหวัด ท้องถิ่น และ ททท. เป็นต้น ร่วมกันจัดทำกิจกรรม CSR ในแหล่งท่องเที่ยวหลัก ๆ เพื่อรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกให้กับนักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญในการท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่า และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเรื่องขยะต่างๆ การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อจะให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืน

ในนามของผู้แทนภาคเอกชนต้องขอขอบคุณ ททท. ที่ได้จัดแถลงข่าวที่เกาะหมาก ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นเสมือนตัวแทนที่เห็นถึงความชัดเจนของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ Low Carbon รวมทั้ง เป็นการเปิดการท่องเที่ยวภาคตะวันออกที่จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และมีส่วนช่วยให้นักท่องเที่ยวรับทราบและสร้างจิตสำนึก จูงใจในการช่วยกันดูแลแหล่งท่องเที่ยว นอกจากจะได้มาสัมผัสความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นส่วนที่ช่วยให้คำนึกถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเป็นสำคัญ และพวกเรายินดีสนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวในทุกมิติไปด้วยกัน เพื่อให้การท่องเที่ยวยั่งยืนตลอดไป

นายนล สุวัจนานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก กล่าวว่าในนามของคนในพื้นที่เกาะหมาก ขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดตราดและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างสูงที่มาจัดกิจกรรมแถลงข่าวที่เกาะหมากในวันนี้ ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เล็งเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเกาะหมากในการเป็นพื้นที่ที่มีส่วนสนับสนุนและส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตราด

เกาะหมาก ถือเป็นเกาะที่เงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน และเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวแบบ ” Low Carbon” หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะด้วยการปั่นจักรยาน พายเรือคายัก รณรงค์การใช้ยานพหานะที่เป็นรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมให้ร้านอาหารและโรงแรมใช้วัตถุดิบทำอาหารต่าง ๆ ที่หาได้บนเกาะ แทนที่จะต้องขนขึ้นเรือข้ามเกาะมา ทั้งยังส่งเสริมการปลูกผักสำหรับกินเองและขายในกิจการโรงแรมและร้านอาหาร มีโครงการนำขยะเศษอาหารจากโรงแรมหรือร้านอาหารบนเกาะมาเป็นปุ๋ยหมุนเวียน รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ผู้ประกอบการในเกาะหมากในการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถทำกิจกรรมผ้ามัดย้อม ที่ใช้วัสดุจากพื้นที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างเกาะต่าง ๆ อาทิ เกาะกระดาด เกาะนกนอก เกาะนกใน เกาะขายหัวเราะ เกาะขาม ที่พัก รีสอร์ท ในเกาะหมาก มีจำนวน 46 แห่ง จำนวนประมาณ 700 ห้อง ซึ่งมีหลากหลายราคาที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ด้วยการเดินทางที่สะดวกสบาย ที่มีเรือบริการวันละประมาณ 3 เที่ยว จากบริษัทต่าง ๆ อาทิ  เรือปาหนัน เรือลีลาวดี  เรือซีเทลล์เกาะหมาก  เรือเอ็มมารีน จากท่าเรือกรมหลวงฯ   และจากท่าเรือแหลมศอกของเดอะหมาก รีสอร์ท  ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยต่อวัน ประมาณ 300 คน /วัน

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับ อพท. ในการเป็น Green Destination จนได้รางวัล Top 100 ในปี 2566 จะมีการพัฒนาต่อยอดให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในกลุ่มเที่ยวอย่างรับผิดชอบ การทำกิจกรรม CSR โดยทำงานร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ เอกชนในพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญ ท่องเที่ยวเกาะหมาก สะดวก สะอาดปลอดภัยแน่นอน

Related Articles

Stay Connected

22,878FansLike
3,912FollowersFollow
22,100SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles