25.9 C
Bangkok
Saturday, February 22, 2025
010
002
previous arrow
next arrow

เมืองอัจฉริยะ: การเลือกใช้ AI พร้อมความยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

แนวคิดเมืองอัจฉริยะกำลังเข้ามาปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตในเมือง ผ่านการผสมผสานเทคโนโลยีและความยั่งยืนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าอยู่มากขึ้น วันนี้ OPEN-TEC (Tech Knowledge Sharing Platform), ภายใต้การดูแล TCC TECHNOLOGY GROUP จะพาทุกคนไปเจาะลึกถึงบทบาทปัญญาประดิษฐ์ (AI), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ในการส่งเสริมความยั่งยืน การบริหารจัดการพลังงาน และโซลูชั่นทางเทคนิคแบบบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของเมืองยุคใหม่

ความยั่งยืนในการพัฒนาเมือง

การวางผังเมืองให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพพลังงาน และแนวทางการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในเมืองต่างๆ เช่น สิงคโปร์ และ โคเปนเฮเกน นั้นถือเป็นหนึ่งในผู้นำในด้านการใช้มาตรการสีเขียว ตัวอย่างเช่น โคเปนเฮเกน ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นเมืองที่ปลอดคาร์บอนภายในปี 2025 โดยใช้พลังงานลมและระบบทำความร้อนจากศูนย์กลาง (Copenhagen Green City Plan, 2021)1 ในขณะที่ แผนสีเขียว 2030 ของสิงคโปร์ ได้มุ่งเน้นไปที่อาคารที่ประหยัดพลังงานและการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Singapore Government Green Plan, 2021)2  มากไปกว่านั้น มาตรฐานการรับรองอาคารสีเขียว เช่น Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) เป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการก่อสร้างและดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น One Bangkok (OBK) ในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจาก LEED for Neighborhood Development (LEED-ND) Platinum ด้วยการผสานระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และพื้นที่สีเขียวเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (One Bangkok Smart & Sustainable Development Report, 2024)3  ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นแสดงให้เห็นว่าการนำเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ IoT เข้ามาใช้นั้นจะช่วยให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของอาคาร ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มความน่าอยู่ให้กับเมืองที่อยู่อาศัยนั่นเอง

บทบาทของ AI และข้อมูลในเมืองอัจฉริยะ

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญในการบริหารจัดการเมือง โดย AI สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นในด้านการจัดการพลังงาน ระบบอัตโนมัติในอาคาร และการตรวจสอบสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทบาทสำคัญอย่าง การผสมผสานการทำงานให้เข้ากับอุปกรณ์ IoT ก็มีส่วนช่วยในการรวบรวมข้อมูล เช่น คุณภาพอากาศ การใช้พลังงาน เป็นต้น  โดย AI จะประมวลผลข้อมูลเหล่านี้เพื่อใช้ในการปรับปรุงระบบ คาดการณ์ความต้องการบำรุงรักษา และเพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ถังขยะอัจฉริยะของกรุงโซล ที่จะทำการแจ้งเตือนทีมเก็บขยะเมื่อขยะเต็ม ซึ่งสิ่งนี้สามารถช่วยลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นและลดการปล่อยมลพิษนั่นเอง (Korean Urban Technology Report, 2022)4

การเชื่อมโยงความร่วมมือและความเชี่ยวชาญ

ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และองค์กรวิชาชีพ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จ แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีอยู่แล้ว แต่ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางเทคนิคเข้ากับการใช้งานจริงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างมาตรฐานทางเทคโนโลยีให้สอดคล้องกันในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นยังคงเป็นความท้าทาย ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและการวิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

การเผชิญหน้ากับความท้าทายและการคว้าโอกาส

การเปลี่ยนแปลงสู่เมืองอัจฉริยะนั้นย่อมมีอุปสรรค อย่างการบกพร่องในการปฏิบัติตามมาตรฐานระดับโลกในการดำเนินอุตสาหกรรม และความซับซ้อนในการผสมผสาน AI ให้เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ล้วนเป็นความท้าทายที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจอีกมากมาย ตั้งแต่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไปจนถึง การสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ดีต่อสุขภาพ โดย AI นั้นจะสามารถช่วยพัฒนาเมืองได้โดยการวิเคราะห์รูปแบบการจราจร ความปลอดภัยสาธารณะ และการจัดสรรทรัพยากรนั่นเอง

ขณะที่โลกกำลังก้าวสู่อนาคตที่เชื่อมโยงกันและยั่งยืนมากขึ้น เมืองอัจฉริยะถือเป็นสัญลักษณ์ของนวัตกรรมและความก้าวหน้า เมืองอย่าง กรุงเทพ สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน และเกาหลี เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและปกป้องสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นต้นแบบให้กับศูนย์กลางเมืองอื่นๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสู่แนวคิดเมืองอัจฉริยะ

อ้างอิง

1.Singapore Government. (n.d.). Singapore Green Plan 2030. Singapore Government. Retrieved February 5, 2025, from https://www.greenplan.gov.sg/

2.City of Copenhagen. (n.d.). Urban planning. City of Copenhagen. Retrieved February 5, 2025, from https://urbandevelopmentcph.kk.dk/urban-planning

3.One Bangkok. (n.d.). Sustainability & Smart City. Retrieved February 5, 2025, from https://www.onebangkok.com/en/sustainability-and-smart-city/

4.Ministry of Land, Infrastructure, and Transport. (n.d.). Smart city comprehensive portal. Retrieved February 5, 2025, from https://smartcity.go.kr/en/

Related Articles

[td_block_social_counter facebook="tagdiv" twitter="tagdivofficial" youtube="tagdiv" style="style8 td-social-boxed td-social-font-icons" tdc_css="eyJhbGwiOnsibWFyZ2luLWJvdHRvbSI6IjM4IiwiZGlzcGxheSI6IiJ9LCJwb3J0cmFpdCI6eyJtYXJnaW4tYm90dG9tIjoiMzAiLCJkaXNwbGF5IjoiIn0sInBvcnRyYWl0X21heF93aWR0aCI6MTAxOCwicG9ydHJhaXRfbWluX3dpZHRoIjo3Njh9" custom_title="Stay Connected" block_template_id="td_block_template_8" f_header_font_family="712" f_header_font_transform="uppercase" f_header_font_weight="500" f_header_font_size="17" border_color="#dd3333"]
- Advertisement -spot_img

Latest Articles