ต้องบอกว่าการเดินเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเรา เพราะไม่ว่าจะไปทำงาน ไปเที่ยว หรือเดินทางไปไหนก็ต้องเดินไม่มากก็น้อย แต่ในบางคนเมื่อเดินเยอะ ๆ ก็รู้สึกว่ามีอาการขัดหรือรู้สึกเจ็บบริเวณเข่า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของ “โรคข้อเข่าเสื่อม” ภาวะการเสื่อมของข้อเข่าที่พบมากในผู้สูงอายุ ทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณข้อเข่าเวลาเคลื่อนไหว และหากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจเจ็บมากจนกระทบการใช้ชีวิต วันนี้ นพ.สมยศ ปิยะวรคุณ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์ผู้ชำนาญการ ข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงลักษณะของโรคข้อเข่าเสื่อม พร้อมบอกวิธีการดูแลรักษาเพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพข้อเข่าที่ดี เดินไปไหนมาไหนได้อิสระตามใจต้องการ
วัยไหนก็ห้ามเมิน “โรคข้อเข่าเสื่อม”
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) หมายถึง ภาวะความเสื่อมของข้อเข่า ทั้งด้านรูปร่าง โครงสร้าง หรือการทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อต่อ รวมทั้งเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นของข้อเข่า เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้มทำให้เนื้อกระดูกชนกันขณะรับน้ำหนัก ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด และเมื่อผ่านไปนาน ๆ อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนหัวเข่าผิดรูป ไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ
ข้อเข่าเสื่อมแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปฐมภูมิ เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน เช่น การเสื่อมสภาพของข้อเข่าจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักพบในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป รวมถึงการใช้งานข้อเข่ามาก ๆ อีกกลุ่มคือ กลุ่มทุติยภูมิ คืออาการข้อเข่าเสื่อมที่มีสาเหตุบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่น อุบัติเหตุที่กระทบบริเวณข้อเข่า การติดเชื้อที่ทำให้หลั่งสารที่ทำลายกระดูกอ่อน ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จึงเกิดกับคนที่อายุน้อย นพ.สมยศ ปิยะวรคุณ อธิบายเพิ่มเติมว่า “คนไข้บางโรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ก็อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เพราะการอักเสบที่เป็นซ้ำๆ เป็นๆ หายๆ จะไปเร่งการเสื่อมของเนื้อเยื่อในข้อเข่า”
อาการแบบไหนเป็นสัญญาณ “โรคข้อเข่าเสื่อม”
โดยทั่วไปผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มต้นจะมีอาการปวดเล็กน้อยจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรืออาจมีอาการติดขัดข้อเข่า ยืดขาได้ไม่เต็มที่ “นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เข่าเริ่มมีเสียงกรอบแกรบจากการสึกของข้อเข่า ในบางกลุ่มอาจทำให้ข้อเข่าเปลี่ยนรูปทรง โดยส่วนมากจะมีภาวะข้อเข่าโก่ง และในส่วนน้อยข้อเข่าจะเกเข้าด้านใน ซึ่งทุกอาการจะมีอาการปวดร่วมด้วย และจะเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ดั้งนั้นถ้ามีอาการเหล่านี้จนรบกวนชีวิตประจำวันก็ควรมาพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษา”
ส่องวิธีการรักษา “โรคข้อเข่าเสื่อม”
สำหรับผู้ที่มีอาการเข้าข่ายโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะตรวจร่างกายด้วยการเอกซเรย์ และอาจตรวจด้วยเครื่อง MRI ร่วมด้วยในบางราย นอกจากนี้ อาจเจาะเลือดเพิ่มเติมเพื่อตรวจดูปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น นพ.สมยศ ปิยะวรคุณ อธิบายถึงวิธีการรักษาว่า “การรักษาโรคนี้สามารถทำได้หลายวิธี อย่างแรกคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การบริหารข้อ ต่อมาคือการรักษาด้วยการทานยาหรือการฉีดยาแก้ปวด เช่น สเตียรอยด์ ส่วนอีกวิธีคือการฉีดน้ำหล่อลื่นข้อเข่า ซึ่งการฉีดยาทั้งสองแบบช่วยลดอาการในระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อฤทธิ์หมดก็จะกลับมาปวดเหมือนเดิม ดั้งนั้นทั้งสองวิธีจึงเหมือนเป็นการบรรเทามากกว่าจะเป็นการรักษา”
เปลี่ยนชีวิตด้วย “ข้อเข่าเทียม”
หนึ่งในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบันคือการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพสูง ความเสี่ยงต่ำ และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งข้อเข่าเทียมในตอนนี้มีความใกล้เคียงข้อเข่าจริงมากขึ้น และใช้งานได้ยาวนานกว่า 20 ปีในคนไข้ส่วนใหญ่ โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบ่งได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบเต็มเข่า คือการผ่าเปลี่ยนทั้งสองข้างทั้งด้านนอกและด้านใน แบบที่สองคือ แบบครึ่งเข่า คือการผ่าเปลี่ยนแค่ครึ่งที่มีปัญหา ซึ่งวิธีนี้สามารถเก็บเส้นเอ็นในข้อเข่าไว้ได้ ทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า “ข้อเข่าเทียมนั้นสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงข้อเข่าจริง แต่ต้องระวังกิจกรรมที่มีการพับงอเข่านานๆ เช่น เรื่องการคุกเข่า และหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้ข้อเข่ามาก ๆ เพราะข้อเข่าเทียมก็สึกหรอได้เหมือนเข่าจริง”
“หลายคนกังวลว่าถ้าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการหนักขึ้นต่อเนื่องจนเดินไม่ได้เลย แต่ในความจริงเรารักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม อาจต้องปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทำกายภาพบำบัด ใช้ยา หรือรักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเทียมก็ได้เช่นกัน ข้อเข่าของเราจะได้กลับมาแข็งแรงสมวัย ไม่ต้องมากังวลว่าจะเจ็บเวลาเดินไปไหนมาไหน”
ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 4 ศูนย์กระดูกและข้อ หรือโทรนัดหมาย โทร.0-2079-0060 เวลา 08.00-20.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก https://bit.ly/372qexX