“เคบีเอฟ อินเตอร์แพ็ค” KBF Interpack แสดงจุดแข็งอันดับ 1 ผู้ผลิตแพคเกจจิ้งระดับพรีเมียมในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์กว่า 18 ปี ในการผลิตแพคเกจจิ้งมากกว่า 400 รูปแบบ และความสามารถขึ้นรูป Private Mold, นวัตกรรมสีด้านเจ้าแรกในประเทศ, การลงทุนเครื่องจักรขึ้นรูปแพคเกจจิ้งจากวัสดุรีไซเคิล รองรับกับความต้องการที่ครอบคลุม สร้างความพร้อมรุกตลาด Food Industry ในงานแสดงสินค้า Cosmoprof CBE ASEAN 2023
นายดนุสรณ์ เตชะพานิชกุล กรรมการบริหาร บริษัท เคบีเอฟ อินเตอร์แพ็ค จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแพคเกจจิ้งระดับพรีเมียมชั้นนำในประเทศไทย ที่เริ่มต้นขึ้นโดยการหยิบนำ Know-how จากโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ เพื่อสร้างแพคเกจจิ้งที่มีความพิถีพิถันทั้งในด้านคุณภาพ ความแข็งแรง ความใสที่มากเป็นพิเศษ โครงสร้างในการขึ้นมุมและสัญลักษณ์ที่ชัดเจนสวยงาม เกิดมาจากเทคโนโลยีการขึ้นแม่พิมพ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงประสบการณ์ที่สั่งสมมานานกว่า 18 ปี
“KBF จะมุ่งเน้นที่ตลาด Cosmetic เป็นหลัก โดยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทจะแบ่งเป็นวัสดุประเภท PETE ซึ่งเป็นพลาสติกเกรดพรีเมียมที่มีความใส เงา ทนทานสูง เหมาะกับตลาดสินค้าความงาม-ตลาดอาหารและยา ต่อมาคือหลอด PE ผลิตโดยเครื่องจักรจากประเทศเกาหลี ที่เป็นเทคโนโลยีประเภทหลอดพลาสติก 3 และ 5 ชั้น รวมถึงยังมีงานกระปุกอีกหลายรูปแบบ นอกจากนี้ บริษัทยังดูแลถึงส่วนของงานตกแต่ง ทั้งการติดสติ๊กเกอร์ ฉลาก งานสีต่าง ๆ ไปจนถึงบริการหาตัวปั๊มหรือฝาที่เหมาะสมกับแพคเกจจิ้ง เพื่อให้ลูกค้าพร้อมสำหรับนำไปกรอกเนื้อผลิตภัณฑ์และได้สินค้าสำเร็จออกสู่ตลาดได้เลย”
ปัจจุบัน KBF Interpack มีสัดส่วนการจัดจำหน่ายแบ่งเป็นในประเทศไทย 70% และส่งออก 30% ส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตามลำดับ และยังมีการจัดจำหน่ายผ่านลูกค้า OEM ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นในเอเชีย โดยได้แบ่งรูปแบบ SKU ของสินค้าออกเป็น 2 ประเภท คือ สินค้า Common Mold ขนาดตั้งแต่ 10 มิลลิลิตร จนถึง 1.2 ลิตร ประกอบด้วย ทรง Bottle, Jar, Tube และอื่น ๆ มากกว่า 400 รูปแบบ ส่วนอีกประเภทคือ สินค้า Private Mold ขึ้นรูปได้อย่างเฉพาะตัวตามเอกลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งยังตอบโจทย์ตลาดในประเทศที่กำลังเข้าสู่ยุคของ Niche Market มากขึ้นด้วย
“เรามองว่าตลาดยุคใหม่จะมีความต้องการหลัก ๆ แบ่งเป็นมุมมองของลูกค้าที่อยากได้แพคเกจจิ้งสะท้อนภาพจำของแบรนด์ตัวเองมากขึ้น จุดนั้นทำให้ KBF มีการลงทุนในเครื่องจักร Private Mold ในโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเป็น Specialized รองรับกับ Niche Market โดยเฉพาะ ทั้งยังมีการร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อวิจัยพัฒนานวัตกรรมแพคเกจจิ้งสีด้าน สร้างขวดลักษณะสีด้านที่คงทน ไม่หลุดลอก และมีความสม่ำเสมอในทุก ๆ ด้าน แตกต่างจากการพ่นสีทั่วไป ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่ทำเป็นเจ้าแรกในประเทศอีกด้วย”
นายดนุสรณ์ ยังกล่าวสอีกว่า ความต้องการในตลาดแพคเกจจิ้งที่เข้ามาหลังสถานการณ์โควิดเริ่มฟื้นฟู คือแง่ของการทำธุรกิจรักษ์โลก หรือการเปลี่ยนมาใช้ PCR ซึ่งเป็นวัตถุดิบรีไซเคิลแทนการใช้วัสดุเดิมอย่าง Virgin Plastic ที่ทำจากน้ำมัน โดยปัจจุบันด้วยนโยบายของตลาดฝั่งยุโรปที่มีปัจจัยด้านภาษีรีไซเคิลเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้เร่งให้บริษัทปรับตัวมาใช้วัสดุ PCR มากกว่า 30% ในการส่งออก เช่นเดียวกับในไทย ที่วัตถุดิบเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเริ่มกลับมามีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการอีกครั้ง หลังขาดแคลนไปก่อนหน้าโควิดเริ่มระบาด ทำให้ KBF มีความพร้อมต่อการขึ้นรูปแพคเกจจิ้งจากวัสดุรีไซเคิลสำหรับลูกค้าในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ KBF มีจุดแข็งในการเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก สามารถการันตีได้ว่าสินค้ามีข้อบกพร่องไม่เกิน 3% รวมถึงใช้เวลาในการผลิตที่รวดเร็ว พร้อมจัดส่งในระยะเวลาเพียง 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า จุดแข็งเหล่านี้ทำให้บริษัทมีการเติบโตในสถานการณ์โควิดที่สวนทางกับธุรกิจประเภทอื่น ทั้งยังมีปัจจัยบวกเสริมจากความต้องการในขวดสเปรย์-เจลแอลกอฮอล์ที่มากขึ้นในช่วงดังกล่าว ทำให้บริษัทมียอดขายเติบโตขึ้นถึง 20% ต่อปี ในช่วง 3 ปีหลัง และช่วยผลักดันให้ KBF มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดที่นอกเหนือจากตลาด Cosmetic
“ช่วงกลางปี 2566 KBF จะมีการลงทุนประมาณ 15 ล้านบาท ในการนำเครื่องจักรใหม่เข้ามา โดยมุ่งเน้นในเรื่องของตลาดอาหารเกรดพรีเมียมโดยเฉพาะ อาทิ ขวดซอสสลัด ซอสอาหาร ซอสน้ำมัน ไซรัปต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในด้านงานตกแต่งสีและการทำแพคเกจจิ้งจากจากวัสดุ PCR อาทิ ขวดรีไซเคิล หลอดรีไซเคิล โดยนวัตกรรมต่าง ๆ ที่บริษัทสร้างสรรค์ขึ้นมาในปีนี้ ยังจะถูกนำไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก Cosmoprof CBE ASEAN 2023 เพื่อแสดงถึงความหลากหลายของแพคเกจจิ้งที่ครอบคลุมในตลาด Cosmetic และ Food Industry”