การเกิดโรคลมพิษแม้ไม่อันตรายถึงชีวิตแต่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่สบายตัว รำคาญใจ โดยเฉพาะโรคลมพิษเรื้อรังที่สร้างความรำคาญจากอาการคันได้อย่างต่อเนื่อง จนรบกวนคุณภาพชีวิตตลอดจนการนอน การได้รับการรักษาโดยเร็วและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
พญ.ลินน่า งามตระกูลพานิช แพทย์ผู้ชำนาญการด้านภูมิแพ้และหอบหืด ศูนย์ภูมิแพ้และหอบหืด ร.พ.กรุงเทพ กล่าว โรคลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticaria) จะมีอาการผื่นลมพิษแบบเป็น ๆ หาย ๆ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเป็นต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ลักษณะเป็นผื่นนูนแดง บวม คันมาก ขนาดต่างกัน เกิด ตามที่ต่างๆ ของร่างกาย อาการกำเริบได้ เวลาร้อน หรือเครียด หากผื่นอยู่นานอาจทิ้งรอยดำและมีจุดเลือดออกในผื่นได้
นอกจากนี้ ยังทำเสียบุคลิกภาพและความมั่นใจ อาจนำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับได้ แม้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่การปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลเสียในระยะยาว ลมพิษเรื้อรังมีปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ เช่น ปัจจัยกระตุ้นทางกายภาพต่อผิว เช่น ความเย็น วัตถุเย็น แรงกด ความร้อน แรงขีดข่วนผิว โรคเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ, โรคแพ้ภูมิตัวเอง การติดเชื้อ อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด ของหมักดอง การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การแพ้สารสัมผัส เช่น ขนสัตว์ ถุงมือยาง ไรฝุ่น พิษแมลง เนื้องอกและมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ และยาบางชนิดที่ร่างกายเกิดการแพ้ ทั้งนี้ผื่นลมพิษเรื้อรังมีขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่ มีลักษณะปื้นนูนแดง คันไม่มีขุยขอบเขตชัดเจน ผื่นกระจายอย่างรวดเร็ว มีทั้งวงกลมรีวงแหวนทั้งแขนขาใบหน้ารอบดวงตา ปากผู้ป่วยบางคนอาจปากบวมและตาบวมร่วมด้วย นอกจากนี้ ความเครียดมีผลกับการเห่อของโรคได้
การตรวจวินิจฉัยลมพิษเรื้อรังจะเริ่มจากซักประวัติเกี่ยวกับผื่น ระยะเวลาที่เกิดผื่น ปัจจัยที่กระตุ้นผื่น รวมถึงการตรวจร่างกายอย่างละเอียด พิจารณาลักษณะผื่น ตรวจเลือด ตรวจทางห้องปฏิบัติการตามคำแนะนำของแพทย์ การรักษาลมพิษเรื้อรังเป็นไปตามสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นเป็นสำคัญเพื่อลดผื่นที่เกิดขึ้น โดยเป็นการรักษาด้วยยา ได้แก่ ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ ช่วยรักษาและควบคุมอาการของโรค จะมีหลายชนิดและมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน รวมถึงผู้ป่วยต้องมีการปรับยาเป็นระยะ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้ได้รับยาที่เหมาะสมในระยะยาว และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ยาในกลุ่มอื่น ๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังมีอาการหนัก ได้รับยาฮีสตามีนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการพิจารณาให้ยาเพิ่มเติม เช่นยาฉีด กลุ่ม steroid ตลอดจน ยา กลุ่ม biologic เพื่อยับยั้งการสร้างและหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษ เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด ดูแลให้ถูกวิธีเมื่อป่วยลมพิษเรื้อรัง ต้องเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้ผื่นลมพิษกำเริบ กินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากกินยาแล้วมีอาการง่วงซึมจนกระทบการทำงานและการใช้ชีวิตควรแจ้งแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา ห้ามหยุดกินยาด้วยตัวเองต้องแพทย์สั่งเท่านั้น
ที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่แกะเกาที่ผิวหนัง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก ทำใจให้สบายไม่เครียด ลมพิษเรื้อรังอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนานกว่าจะควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยจึงควรมีวินัยในการกินยาและพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง ที่สำคัญดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคภูมิแพ้และหอบหืด โทร 02-3103221, 0-27551731 Call Center โทร.1719 หรือแอดไลน์ @bangkokhospital