บริษัท โบซานคายา (Bozankaya) และกลุ่มบริษัทพันธมิตร ซีเมนส์ โมบิลิตี้ (Siemens Mobility) และ เอสที เอ็นจิเนียริ่ง เออร์เบิน โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ST Engineering Urban Solutions [Thailand] Ltd.) ลงนามในสัญญาฉบับใหม่เพื่อผลิตรถไฟฟ้าจำนวน 53 ขบวนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและบริการซ่อมบำรุง โครงการล่าสุดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จระหว่างโบซานคายากับซีเมนส์ โมบิลิตี้ในประเทศไทย หลังจากการส่งมอบรถไฟฟ้า 88 ขบวนเมื่อปี 2561
สัญญาดังกล่าวครอบคลุมการส่งมอบขบวนรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ระบบประตูกั้นชานชาลา และระบบหน้าจอแสดงข้อมูล เพื่อมอบโซลูชันการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงและบูรณาการครบวงจร รถไฟฟ้าขบวนใหม่ได้รับการออกแบบด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายในกว้างขวาง และมีระบบแสดงผลข้อมูลที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อความสะดวกสบายของผู้โดยสาร
![](https://more-lively.com/wp-content/uploads/2025/02/Bozankaya-Together-with-Siemens-Mobility-and-ST-Engineering-Mass-Rapid-Transit-2.jpg)
จากอังการาสู่กรุงเทพมหานคร: เส้นทางสู่นวัตกรรมสีเขียวและความสำเร็จ
ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย ซีเมนส์ โมบิลิตี้ และบริษัท เอสที เอ็นจิเนียริ่ง เออร์เบิน โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด โบซานคายาจะผลิตรถไฟฟ้าขบวนใหม่ 53 ขบวนที่โรงงานอันทันสมัยในกรุงอังการา โดยจำนวน 32 ขบวนจะให้บริการในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มของกรุงเทพมหานคร และ 21 ขบวนจะให้บริการบนสายสีน้ำเงิน ทั้งนี้ สายสีส้มเป็นเส้นทางเดินรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ MRT จะให้บริการครอบคลุมระยะทาง 35.9 กม. และ 29 สถานี ด้วยรถไฟฟ้าขนาด 3 ตู้จำนวน 32 ขบวน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน หรือ MRT สายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเป็นเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายที่สามของกรุงเทพมหานครต่อจากสายสุขุมวิทและสายสีลมนั้น จะให้บริการด้วยขบวนรถไฟฟ้าขนาด 3 ตู้จำนวน 21 ขบวน โดยกำหนดส่งมอบขบวนรถไฟฟ้าชุดแรกคือช่วงไตรมาสที่สามของปี 2569 และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2571 นอกจากนี้ ขอบเขตของสัญญายังครอบคลุมถึงบริการที่ครบวงจร เช่น ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบอาณัติสัญญาณ และบริการซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 15 ปี สัญญาจะแบ่งเป็นหลายระยะเริ่มตั้งแต่ปี 2567 จนกระทั้งสิ้นสุดในปี 2582
Aytunç Günay ประธานคณะกรรมการบริหารโบซานคายา แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า “โครงการของเราในกรุงเทพมหานครจะส่งเสริมสถานะของโบซานคายาในตลาดระบบรางระดับโลกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การผลิตรถไฟฟ้าให้กับมหานครใหญ่อย่างเมืองหลวงของประเทศไทยเปิดโอกาสให้เราได้แสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและความเป็นเลิศทางวิศวกรรมในระดับนานาชาติ ยิ่งไปกว่านั้น สัญญาฉบับนี้จะยกระดับกำลังการผลิตในท้องถิ่นของเรา และสนับสนุนการส่งออกของตุรกีให้เติบโตขึ้นด้วย”
![](https://more-lively.com/wp-content/uploads/2025/02/Bozankaya-Together-with-Siemens-Mobility-and-ST-Engineering-Mass-Rapid-Transit-3.jpg)
คำสัญญาของโบซานคายา: รองรับผู้โดยสารเต็มความจุได้มากกว่า 800 คนในเที่ยวเดียว
ในฐานะแบรนด์ชั้นนำที่โดดเด่นเรื่องระบบขนส่งไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รถไฟฟ้าประหยัดพลังงานเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านการขนส่งที่ยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร โดยจะนำเสนอทางเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ขบวนรถไฟฟ้าขนาด 3 ตู้แต่ละขบวนจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 800 คนในเที่ยวเดียว ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองได้เป็นอย่างมาก
Mr. Günay ยังได้ชูผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาของโบซานคายา โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงของตุรกี การผลิตและการทดสอบรถไฟจะดำเนินการที่ศูนย์ R&D ของโบซานคายาในกรุงอังการา ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและวิศวกรรมของบริษัท เราภูมิใจอย่างยิ่งในทีมวิศวกร R&D ทั้ง 150 คน และพนักงานเกือบ 1,400 คนในศูนย์ R&D ของบริษัท ซึ่งเมื่อรวมกับศูนย์การผลิตที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 100,000 ตร.ม.ในกรุงอังการาแล้ว จึงทำให้โบซานคายาครองตำแหน่งโรงงานผลิตขบวนรถไฟที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในตุรกี”